นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) กับ ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา ทั้ง 6 สัญญา ประกอบด้วย บมจ. ช.การช่าง (CK) บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)
พร้อมมีการลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระหว่าง รฟม. ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา และผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยกระบวนการขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา จนสามารถลงนามสัญญาจ้างร่วมกันได้วันนี้ รฟม. ได้ดำเนินการตามข้อกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตามแนวนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม
สำหรับรายละเอียดการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ทั้ง 6 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ ในวงเงิน 19,430 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง ประมาณ 4.8 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 16 – 35 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 3 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 2 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี และงานอื่น ๆ โดยมีผู้รับจ้างสัญญาที่ 1 ได้แก่ CKST-PL JOINT VENTURE ประกอบด้วย CK และ STEC
สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า ในวงเงิน 15,878 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า ระยะทางประมาณ 2.4 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 23 – 46 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 3 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 1 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี และงานอื่น ๆ โดยมีผู้รับจ้างสัญญาที่ 2 ได้แก่ CKST-PL JOINT VENTURE ประกอบด้วย CK และ STEC
สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ ในวงเงิน 15,109 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพระพุทธยอดฟ้า ระยะทางประมาณ 3.1 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 22 – 41 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 2 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 3 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี และงานอื่น ๆ โดยมีผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 ได้แก่ ITD – NWR MRT JOINT VENTURE ประกอบด้วย ITD และ NWR
สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง ในวงเงิน 14,982 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้า – ดาวคะนอง ระยะทางประมาณ 4.1 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 17 – 28 เมตร สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 2 สถานี ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 5 ปล่อง งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี และงานอื่น ๆ โดยมีผู้รับจ้างสัญญาที่ 4 ได้แก่ UNIQ
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง – ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) ในวงเงิน 13,094.8 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วยงานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้ายกระดับ ช่วงดาวคะนอง – ครุใน ระยะทางประมาณ 9.0 กิโลเมตร สถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 7 สถานี งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบของสถานี และงานอื่นๆ อาคารจอดแล้วจร จำนวน 4 แห่ง บริเวณบางปะกอก และราษฎร์บูรณะ จอดรถได้ประมาณ 1,920 คัน โรงจอดรถไฟฟ้าบริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษก โดยมีผู้รับจ้างสัญญาที่ 5 ได้แก่ ITD
สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ ในวงเงิน 3,589 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย งานออกแบบควบคู่งานก่อสร้างงานระบบราง ช่วงเตาปูน – ครุใน ซึ่งเป็นระบบรางของทางวิ่งรถไฟฟ้าและระบบรางภายในโรงจอดรถไฟฟ้า งานติดตั้งรางทางวิ่ง รางจ่ายกระแสไฟฟ้า และงานอื่นๆ โดยมีผู้รับจ้างสัญญาที่ 6 ได้แก่ ITD
รฟม. ได้ระบุกรอบระยะเวลาดำเนินงานสำหรับการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญาไว้ที่ 2,005 วัน นับจากวันที่ รฟม. ได้มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ให้กับผู้รับจ้าง
ทั้งนี้ ตามแผนงานจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2565 และคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 65)
Tags: CK, ITD, NWR, STEC, UNIQ, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ, รฟม., รับเหมาก่อสร้าง, หุ้นไทย