นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2564 ว่า พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 60% รับทราบนโยบายทั้งหมด โดยผู้ตอบที่รับทราบนโยบาย 75.09% ต่างพอใจภาพรวมผลงานนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจ ดังนี้
– นโยบายกระทรวงพาณิชย์ ที่ประชาชนรับทราบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ (1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2 (81.33%) ตามด้วย (2) โครงการพาณิชย์ลดราคา (76.45%) และ (3) โครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ (73.51%)
โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เป็นภาคที่มีสัดส่วนผู้รับทราบนโยบายสูงที่สุด ส่วนอาชีพที่มีสัดส่วนผู้รับทราบนโยบายสูงที่สุด คือ ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานของรัฐ นักศึกษา และ เกษตรกร และผู้ตอบในช่วงอายุ 20 – 39 ปี รับทราบนโยบายกระทรวงพาณิชย์มากที่สุด
– นโยบายกระทรวงพาณิชย์ ที่ประชาชนพอใจมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ (1) โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 2 (30.97%) ตามด้วย (2) โครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ (25.41%) และ (3) โครงการพาณิชย์ลดราคา (24.38%)
โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เป็นภาคที่ประชาชนแสดงความพึงพอใจมากต่อทุกนโยบายในสัดส่วนสูงที่สุด ส่วนอาชีพ ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานของรัฐ และ เกษตรกร เป็นอาชีพที่แสดงความพึงพอใจมากต่อทุกนโยบายในสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น และส่วนใหญ่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอายุในช่วง 30 – 49 ปี พึงพอใจมากในนโยบายกระทรวงพาณิชย์
จากผลการสำรวจยังพบว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2 ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2563 ยังเป็นโครงการที่ประชาชนรับทราบและพึงพอใจสูงสุด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร เพราะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการจ่ายส่วนต่างชดเชยในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตร อาทิ การผลักดันให้ผลไม้ราคาดี การกระจายผลไม้ออกจากแหล่งผลิตไปตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนจากทุกอำเภอทั่วประเทศ จำนวน 10,072 คน โดยดำเนินการสำรวจในช่วงเดือนมกราคม 2565
นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังดำเนินโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าราคาถูก ได้แก่ โครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ โครงการพาณิชย์ลดราคา การส่งเสริมการส่งออกสินค้า ที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปี 2564 สามารถขยายตัวได้ถึง 17.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน การเร่งรัดความร่วมมือทางการค้า โดยจัดทำ Mini FTA กับเมืองโคฟุ ประเทศญี่ปุ่น มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่ประชาชนรับทราบและพึงพอใจเช่นกัน
นายรณรงค์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเดินหน้านโยบายช่วยเหลือทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาคธุรกิจ และประชาชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 3 ต่อเนื่องในพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งได้ติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด และดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนในช่วงที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และให้มีเพียงพอต่อความต้องการ อาทิ การจัดตั้งคณะทำงานกำกับติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า (War Room) การขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายตรึงราคาสินค้า
นอกจากนี้ ยังเร่งขยายโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในประเทศต่าง ๆ การทำ Mini FTA กับเมืองใหม่ที่มีศักยภาพ การเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ ๆ อาทิ กับสหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) อาเซียน-แคนาดา เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อันจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มี.ค. 65)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ประกันรายได้, รณรงค์ พูลพิพัฒน์, สนค.