นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการเพิ่มบริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” ว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อให้ความร่วมมืออย่างดี และสนใจเข้ารับบริการมากขึ้น ซึ่งการที่ประชาชนเข้ามารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกแสดงให้เห็นว่าสามารถให้การดูแลผู้ติดเชื้อได้ และช่วยให้ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากสามารถบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการ หรือผู้ป่วยโรคอื่นเพิ่มเติมได้
โดยกรมการแพทย์ ได้ประสานโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมให้บริการด้วยแห่งละ 200-300 รายต่อวัน ทำให้ปัญหาผู้ติดเชื้อของสายด่วน 1330 ลดลงไปได้อีกส่วนหนึ่ง
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน “เจอ แจก จบ” นั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้จัดเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกในการรับบริการ นอกเหนือจากการดูแลที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 และได้ให้โรงพยาบาลใน 14 จังหวัดรอบ กทม. เพิ่มกำลังการบริการในคลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) แบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ ด้วย เพื่อช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการสีเขียวในพื้นที่ กทม.ที่ยังตกค้างจำนวนมาก รองรับได้วันละ 1.8 หมื่นคน
โดยตั้งแต่วันที่ 4-8 มีนาคม 2565 มีโรงพยาบาลให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 21 แห่ง เป็น 50 แห่ง ผู้ติดเชื้อเข้ารับบริการรวม 7,839 ราย (4 มีนาคม 1,179 ราย, 5 มีนาคม 574 ราย, 6 มีนาคม 542 ราย, 7 มีนาคม 3,205 ราย และ 8 มีนาคม 2,339 ราย) ทั้งนี้ 64% เป็นผู้ป่วยในสิทธิบัตรทอง รองลงมา 16% เป็นสิทธิประกันสังคม มีการจ่ายยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ 50% ยาฟาวิพิราเวียร์ 28% และยาฟ้าทะลายโจร 22%
“ภาพรวม ประชาชนมีความพึงพอใจในการรับบริการ และช่วยลดการโทรเข้าสายด่วน 1330 จากวันละ 70,000 สาย เหลือ 50,000 สาย ทำให้มีสายตกค้างลดลง” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทย ขณะนี้อยู่ในระดับทรงตัว มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณวันละ 2 หมื่นราย โดยวันนี้รายงาน 22,984 ราย รักษาหายเพิ่ม 24,161 ราย เสียชีวิต 74 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 220,334 ราย สำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น เป็นไปตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น เพราะแม้สายพันธุ์โอมิครอนจะมีความรุนแรงลดลง แต่เมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็มีโอกาสที่จะแพร่ไปสู่กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้มากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ที่สำคัญคือยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของการป่วยได้ จึงขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนตามกำหนด และหากรับครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือนแล้ว ขอให้รีบมารับเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ที่จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา พบปะรวมตัวกันในครอบครัว หากได้รับวัคซีนและเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา จะช่วยลดความเสี่ยงการติดและแพร่เชื้อในครอบครัวได้อย่างมาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มี.ค. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, ผู้ป่วยนอก, อนุทิน ชาญวีรกูล, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โควิด-19