ภาคการผลิต จ่อทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วง 3-6 เดือนจากผลกระทบราคาน้ำมัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในภาคการผลิตสินค้าต่างๆ ให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะมีปริมาณสินค้าในสต็อกไม่เท่ากัน บางรายอาจมีสต็อก 3 เดือน บางรายอาจมีสต็อก 6 เดือน ดังนั้น จากผลกระทบดังกล่าว คาดว่าจะได้เห็นผู้ผลิตสินค้าทยอยปรับขึ้นราคาในช่วง 3-6 เดือนจากนี้

“คาดว่าในช่วง 3-6 เดือน คงจะทยอยปรับราคาสินค้าขึ้นกัน ตอนนี้ในส่วนของปุ๋ยเคมี ก็จะขอปรับขึ้นใน 1-2 เดือนนี้แล้ว…แต่ละอุตสาหกรรมจะมีสต็อกสินค้าไม่เท่ากัน 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง ตอนนี้สต็อกก็เริ่มลดลง ยกตัวอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นตัวชี้วัด ยังขอปรับขึ้นราคาแล้ว เพราะข้าวสาลีที่เป็นวัตถุดิบสำคัญปรับตัวสูงขึ้น”

นายเกรียงไกร ระบุ

ทั้งนี้ พบว่าการปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก 1 ดอลลาร์/บาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น 25 สตางค์/ลิตร

ส่วนกรณีที่รัฐบาลพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อช่วยลดผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการภาคขนส่งนั้น นายเกรียงไกร กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ช่วยเหลือด้วยการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยชดเชยราคาน้ำมันดีเซล จนสถานะของกองทุนฯ ติดลบอยู่ในปัจจุบัน และอาจจะต้องกู้เงินเพิ่มเติม รวมทั้งการเข้าไปลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหากราคาน้ำมันยังทยอยเพิ่มขึ้นไม่หยุด รัฐบาลก็อาจจะต้องช่วยลดภาษีสรรพสามิตลงอีกรอบ เพื่อตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทตามที่รับปากไว้กับกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง

อย่างไรก็ดี หากรัสเซียยังโดนคว่ำบาตรจากทางชาติตะวันตกต่อไป ก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นไม่หยุด ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ของหลายประเทศทั่วโลกมองว่ามีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะขึ้นไปแตะ 180-200 300 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ในอนาคต ดังนั้น หากราคาน้ำมันขึ้นไปถึงระดับดังกล่าวจริง รัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาตรึงราคาดีเซลให้อยู่ที่ 30 บาท/ลิตร

“กองทุนน้ำมันฯ ตอนนี้ติดลบไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท และกำลังจะขอกู้เพิ่มอีก ตอนนั้นคำนวณกันว่าต้องใช้ 3 หมื่นล้านบาท แต่ราคาน้ำมันเวลานั้นยังไม่ถึง 100 เหรียญ แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันพุ่งเกินไปกว่านั้นแล้ว ก็ไม่รู้ว่า 3 หมื่นล้านบาท อาจใช้ได้ไม่นาน และต้องกู้เพิ่มอีก ซึ่งอาจจะเป็นภาระทางการคลังสูง…ถ้าราคาน้ำมันยังขึ้นไปอีก อาจจะต้องพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงอีกจนหมด เพื่อตรึงราคาไม่ให้เกินลิตร 30 บาท”

นายเกรียงไกร ระบุ

สำหรับก๊าซ LPG ที่เป็นต้นทุนหนึ่งในการผลิตสินค้า ซึ่งจะมีการปรับราคาก๊าซ LPG ตั้งแต่เดือนเม.ย.นั้น นายเกรียงไกร กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคขนส่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลตามมาถึงค่าไฟฟ้า ตลอดจนค่าครองชีพอื่นๆ ให้ปรับตัวสูงขึ้นตาม ดังนั้น จึงถึงเวลาที่ควรพูดคุยกันอย่างจริงจังในการหันมาใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดสัดส่วนการนำเข้าก๊าซ และน้ำมันลง

“อาจจะถึงเวลาที่เราต้องจริงจังในการปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศให้สมดุล การผลิตไฟฟ้า อาจต้องบาลานซ์ด้วยการใช้ไฮโดร หรือเขื่อนน้ำมากขึ้น เพราะเรามีสัดส่วนการผลิตด้วยก๊าซมาก และเมื่อราคาก๊าซพุ่งขึ้น ก็จะมีผลกระทบ ไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันในสัดส่วนถึง 90% ดังนั้นเมื่อน้ำมันโลกปรับขึ้นราคา จึงเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้”

นายเกรียงไกรระบุ

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังกังวลในสินค้ากลุ่มแร่ธาตุหายาก ที่จะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ ในทางตรงจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตให้เพิ่มขึ้น ส่วนทางอ้อมจะเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และทำให้ supply chain หยุดชะงัก ยกตัวอย่าง โรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งในโลก มีคำสั่งซื้อเข้ามาแต่ก็ต้องหยุดการผลิต เพราะมีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มี.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top