นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวภายหลังการประชุมการทบทวนภาวะเศรษฐกิจที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้คาดว่าจะติดลบอย่างแน่นอน
แต่ขณะนี้คงคาดการณ์ลำบาก เนื่องจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว มีคนตกงานแล้ว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพยายามดูแลด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือและลดผลกระทบให้กับประชาชน
ทั้งนี้ ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ สศช.จะมีการแถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 1/63 และแนวโน้มปี 63 ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
“วันที่ 18 พ.ค. นี้ สศช. และ สศค. จะร่วมกันแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2563 ซึ่งปกติไม่ใช่การแถลงแบบนี้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จึงต้องแถลงร่วมกัน โดยยอมรับว่าปีนี้ติดลบแน่นอน แต่จะเท่าไร คงต้องรอฟังจากการแถลง” รมว.คลังกล่าว
ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการในการดูแลช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครอบคลุมทุกกลุ่มแล้ว ทั้งกลุ่มประชาชน ผ่านระบบประกันสังคม และอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการ เกษตรกร รวมแล้วว่า 35-36 ล้านคน จากแรงงานในประเทศทั้งหมด 38 ล้านคน ถือว่าเป็นการดูแลในระดับหนึ่งแล้ว
นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารงานของรัฐบาลจากนี้ต้องมองไปข้างหน้า หลายหน่วยงาน ทั้ง ธปท., สศช. และสำนักงบประมาณ กำลังประเมินภาพเศรษฐกิจในระยะถัดไป เพื่อเตรียมการว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ไม่ใช่แค่ผลกระทบเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ต้องดูว่าจะมีมาตรการอะไรที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ
หากในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 สถานการณ์โควิดดีขึ้น การค้าขายสามารถทำได้ดีมากขึ้น การท่องเที่ยวเริ่มกระเตื้อง ก็จะเป็นปัจจัยบวกเข้ามาเสริม
ทั้งนี้ ในการประชุมวันนี้ นายสมคิด ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง วางรูปแบบในการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อใช้ดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก (คนตัวเล็ก) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือเพื่อให้สามารถยังเดินหน้าธุรกิจได้
โดยได้มอบหมายให้ไปเร่งพิจารณาแนวทางในการดูแลช่วยเหลือบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังมีความพยายามดูแลรักษาแรงงาน ไม่ปล่อยให้ตกงาน ว่าจะมีแนวทางในการช่วยเหลือเพื่อให้อุตสาหกรรมยังสามารถคงการจ้างงานไว้ได้อย่างไรบ้าง โดยในเรื่องนี้ต้องทำให้เสร็จก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 พ.ค.นี้
นอกจากนี้ ได้ให้ทุกหน่วยงานเร่งเตรียมโครงการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะกลางพิจารณา โดยย้ำว่าโครงการที่จะเสนอต้องเป็นโครงการที่เน้นทำให้เกิดการจ้างงานกับแรงงานในพื้นที่ สร้างรายได้ในท้องถิ่น
นายอุตตม กล่าวว่า ในเบื้องต้น ขนาดของกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลผู้ประกอบการายเล็ก วงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท โดยจะใช้ส่วนหนึ่งจากงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการออกแบบรูปแบบของกองทุน เงื่อนไข และแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
“กองทุนที่จะออกมานี้ จะเป็นกองทุนประเภทหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ตอนนี้คลังกำลังทำการบ้าน จะให้เสร็จเร็วที่สุด โดยแนวทางกำลังพิจารณา อาจไม่ใช่การให้สินเชื่อเพิ่ม แต่หากพิจารณาแล้วสินเชื่อมีความจำเป็น จะเพิ่มให้อีกก็เป็นไปได้ โดยกองทุนนี้จะช่วยเฉพาะคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ ส่วนผู้ประกอบการที่เข้าถึงแหล่งเงินในระบบก็ไปใช้ในสิ่งที่มีที่หน่วยงานได้จัดเตรียมไว้ให้”
นายอุตตม กล่าว
สำหรับแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องการรักษาการจ้างงานไว้นั้น อาจจะรวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องไปดูว่าจะช่วยอย่างไร เพื่อไม่ให้การจ้างงานถูกกระทบ กำลังดูกลไกที่จะเข้าไปช่วยเหลือ
ส่วนธุรกิจสายการบินนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับสถาบันการเงินว่ามีอะไรที่จะช่วยได้ จะช่วยในรูปแบบไหน เงื่อนไขอย่างไร โดยการดำเนินการต้องเหมาะสม หลังจากที่ผู้ประกอบการสายการบินได้เคยมายื่นหนังสือไว้
สำหรับปัญหาของ บมจ.การบินไทย (THAI) นั้น นายอุตตม กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงหารือ ทั้งนี้การล้มละลายเป็นทางเลือกหนึ่ง การฟื้นฟูก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องล้มละลายก่อนถึงจะฟื้นฟู เป็นคนละเรื่องกัน แต่วันนี้ยังไม่ได้สรุป โดยสุดท้ายคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องนี้
ด้านนายสมคิด กล่าวถึงกรณีปัญหา THAI ว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการคลังกับกระทรวงคมนาคม ขอสื่อมวลชนอย่าพยายามเสนอข่าวให้เกิดความสับสนจะได้ไม่วุ่นวาย
“เกี่ยวอะไรกับผม ไม่เกี่ยวอะไรกับผม คมนาคมเป็นคนดูแล ขอร้องพยายามอย่าเสนอข่าวไม่ให้สับสน จะได้ไม่วุ่นวาย” นายสมคิด กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 63)
Tags: กระทรวงการคลัง, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, อุตตม สาวนายน, เศรษฐกิจไทย