นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จากผลการทำวิจัยแบบสอบถามของนักเรียนมัธยมปลาย ที่ได้สอบถามความสมัครใจของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุ 5-11 ปี ในการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย
โดยเก็บข้อมูลผ่านทางสื่อสังคม ในช่วงวันที่ 11-13 ก.พ. 65 มีผู้ปกครองตอบคำถามทั้งสิ้น 3,588 คน โดยผู้ตอบแบบสอบถามมาจากหลายอาชีพ โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ รับราชการ ธุรกิจส่วนตัว บริษัทเอกชน แม่บ้าน และอื่นๆ และอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มากที่สุด
ทั้งนี้ ผลการทำแบบสอบถามพบว่า ผู้ปกครองจะอนุญาตให้บุตรหลานที่อายุ 5-11 ปี รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่ที่ 75.3% และไม่ขอรับวัคซีน 24.7%
โดยในจำนวนที่จะไปรับวัคซีน (จำนวน 2,700 ราย) ชนิดของวัคซีนที่ต้องการตามที่ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ 59.2% วัคซีนซิโนฟาร์ม 30.7% วัคซีนซิโนแวค 5.6% และฉีดสลับชนิดของวัคซีน 4.6%
จากข้อมูลทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยความต้องการที่จะฉีดวัคซีนให้เด็กยังอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 3 ใน 4 และการเลือกฉีดชนิดของวัคซีนก็มีความหลากหลาย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือคำถามปลายเปิด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ต้องการให้บุตรหลานไปรับวัคซีน ส่วนใหญ่จะคำนึงถึงอาการข้างเคียง และผลระยะยาวของวัคซีน ดังนั้นการให้ความรู้ ประโยชน์ ผลที่ได้รับ และอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากวัคซีน ในวัคซีนชนิดต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยการตัดสินใจของผู้ปกครอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 65)
Tags: Pfizer, Sinopharm, Sinovac, ฉีดวัคซีนโควิด, ซิโนฟาร์ม, ซิโนแวก, ยง ภู่วรวรรณ, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนสูตรไขว้, หมอยง, ไฟเซอร์