ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยเป้าหมายทางการเงินของธนาคารในปี 2565 ดังนี้
งบการเงินรวม | เป้าหมายปี 2565 |
---|---|
การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ | 3-5% |
สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรวม | 50% |
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ | 3.1-3.3% |
การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย | Flat |
ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้รวม | Mid-40s |
สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวม | 150-160 bps |
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ | 2.6% |
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ | 150% |
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ในปี 65 ธนาคารวางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 3-5% โดยการเติบโตของสินเชื่อแต่ละกลุ่มจะมีระดับใกล้เคียงกัน ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยเติบโต 3-4% สินเชื่อเอสเอ็มอีโต 4-5% และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่โต 3-4%
ธนาคารจะยังคงให้ความสำคัญกับการกระจายตัวของสินเชื่อแต่ละกลุ่มเท่าๆ กัน ทำให้ยังสามารถมองหาโอกาสในการเติบโตของสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปัจจุบันอาจจะมีสินเชื่อบางกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาดีมากก็ตาม แต่ธนาคารไม่ปิดโอกาสในการเข้าไปทำตลาด แม้จะยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออยู่บ้างเพื่อรักษาคุณภาพของพอร์ตให้อยู่ในระดับที่ดี
ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้จะพยายามควบคุมให้ไม่เกินระดับ 2.6% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่ 2.2% เนื่องจากในปีนี้มาตรการพักชำระหนี้จะครบกำหนด ซึ่งธนาคารคาดว่าอาจจะมีลูกหนี้บางส่วนที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ทำให้แนวโน้ม NPL อาจจะปรับตัวสูงขึ้น โดยที่กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้มีมูลหนี้รวม 1.7 แสนล้านบาท
ในปัจจุบันจากการติดตามลูกหนี้ในโครงการ เชื่อว่าส่วนใหญ่จะเริ่มกลับมาชำระหนี้ได้หากสิ้นสุดมาตรการ ขณะที่ลูกหนี้ที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้นั้น ธนาคารก็มีความพร้อมในการรับมือกับ NPL ที่สูงขึ้นแล้ว จากการที่ทีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 150%
ด้านการลงทุนด้านเทคโนโนโลยีธนาคารยังคงเดินหน้ามองหาโอกาสใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายธุรกิจร่วมกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่ธนาคารได้เข้าลงทุนไปแล้ว ซึ่งการลงุทนด้านดิจิทัลธนาคารยังคงมุ่งเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีการเงิน การค้าขาย และประกัน รวมถึงด้าน Digital Asset ที่ได้เข้าลงทุนใน Zipmex ซึ่งจมีการขยายตลาดไปในอาเซียนมากขึ้น รวมถึงโอกาสการลงทุนใหม่ๆในบริษัทเทคโนโนโลยีที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
นายอาคิตะ กล่าวอีกว่า แผนธุรกิจของธนาคารในปี 65 จะเน้นไปที่การเชื่อมโยงการให้บริการการทำธุรกรรมของลูกค้าในอาเซียนมากขึ้น โดยใช้เครือข่ายของธนาคารกรุงศรี และ MUFG ในอาเซียน ที่จะเข้ามาเสริมการเชื่อมโยงการให้บริการด้านธุรกรรมการเงินกับลูกค้า
ปัจจุบัน BAY มีเครือข่ายด้านการเงินใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม และเมื่อรวมกับเครือข่ายของ MUFG จะมีรวมกันทั้งหมด 9 ประเทศ ทำให้ธนาคารเล็งเห็นโอกาสต่อยอดการเชื่อมโยงบริการต่างๆ ในเครือข่ายเพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนมากขึ้น โดยตั้งเป้าในช่วง 2 ปีนี้สัดส่วนกำไรจากการเครือข่ายของธนาคารอาเซียนจะเพิ่มเป็น 10% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 6%
BAY มองว่าตลาดอาเซียนยังสามารถเติบโตได้สูง โดยเฉพาะในเวียดนาม ซึ่งธนาคารได้เข้าไปลงทุนใน SHBank Finance เมื่อปลายปี 64 เนื่องจากประเทศเวียดนามยังมีโอกาสเติบโตสูอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการลงทุนต่างๆ ที่เข้ามาในประเทศ และคนเวีดยนามมีรายได้มากขึ้นทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงความต้องการใช้สินเชื่อยังมีอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งจะเป็นตลาดที่สามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต รวมถึงเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านการเงินที่ดีประเทศหนึ่งในอาเซียน ทำให้ธุรกิจในเวียดนามจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้กับธนาคารได้ดี
ด้านประเทศไทย ธนาคารมองว่าเศรษฐกิจในปี 65 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง และสามาถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี ทำให้ในช่วงต้นปียังไม่มีมาตรการล็อกดาวน์เกิดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทำให้ภาคการส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาหลังจากมีการปิดประเทศไปชั่วคราว แต่ในปัจจุบันก็ได้เริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งแล้ว จึงคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลัง และจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจนในครึ่งปีหลังอาจกลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะเติบโตได้ราว 3.7%
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร BAY กล่าวว่า ธาคารยังอยู่ระหว่างศึกษาเกี่ยวกับ Virtual Bank หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุนให้สถาบันการเงินที่สนใจยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ Virtual Bank ได้ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการสนับสนุนการเดินหน้าประเทศไทยสู่การเงินในรูปแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
โดยที่ธนาคารยังมีการศึกษาโอกาสในการต่อยอดกับ Digital Bank ที่ธนาคารได้พัฒนาขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “Kept” ซึ่งได้เปิดให้บริการในปัจจุบันหากสามารถนำระบบของ Digital Bank มาเชื่อมโยงและต่อยอดกับ Virtual Bank ได้ เพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการดีขึ้น
ขณะที่การร่วมกับพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) ยังอยู่ระหว่างการมองหาโอกาส แต่มองว่าธนาคารยังมีศักยภาพในการบริหารจัดการหนี้และสินทรัพย์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการที่จะเข้าร่วมทุนกับพันธมิตรจะต้องมองถึงการเสริมศักบภาพเข้ามาในการบริหารจัดการหนี้และสินทรัพย์ต่างๆ ให้ดีขึ้น และสร้างผลตอบแทนกลับมาให้กับธนาคารได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังเพียงแค่การศึกษาและมองหาโอกาส แต่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวออกมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 65)
Tags: BAY, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, สินเชื่อ, เซอิจิโระ อาคิตะ, ไพโรจน์ ชื่นครุฑ