KKP มองโอมิครอนกระทบสั้นคาดศก.H2ฟื้นดัน GDPปี 65 โต 3.9%แต่เงินเฟ้อยังเสี่ยง

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 65 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจน่าจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ความกังวลเรื่องการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในไตรมาส 1/65 จะมีผลกระทบในช่วงสั้น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป แต่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และยังคงการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีที่น่าจะโตได้ที่ระดับ 3.9% ภายใต้สมมุติฐานนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 5.8 ล้านคน

ในภาพรวมปี 65 มีแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง

  • แนวโน้มแรก คือ สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่กระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆเปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น สัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ช่วยลดความรุนแรงของโรคและผลกระทบของการระบาด ทำให้เศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น
  • แนวโน้มที่สอง คือ สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลงและอัตราดอกเบี้ยโลกกำลังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังแรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่สูงกว่าคาด กดดันให้ธนาคารกลางใหญ่ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเริ่มถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ต้นทุนทางการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
  • แนวโน้มที่สาม คือ เศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงฟื้นตัวได้ช้ากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยน่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังการกลับสู่ภาวะปกติของอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่ทั่วถึง

นอกจากนี้เงินเฟ้อในประเทศไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นถึง 3.5% ในไตรมาส 1/65 จากต้นทุนพลังงานและราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพโดยเฉพาะของผู้มีรายได้น้อย ในฝั่งนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบตลอดทั้งปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยภายนอกและภายในประเทศ จะทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านแรกเป็นการระบาดและการกลายพันธุ์ของโควิด-19 อาจจะทำให้การระบาดใหญ่ยังคงมีอยู่ต่อไป กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ด้านที่สองเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการควบคุมวิกฤตโควิด อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกที่มีโอกาสชะลอตัวลง

ด้านที่สามหากอัตราเงินเฟ้อโลกไม่ปรับตัวลดลงตามคาด อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยและถอนการกระตุ้น มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยังต้องจับตาประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top