รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกพันธบัตร ธปท. อย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยให้มีสภาพคล่องและมีประสิทธิภาพ โดย ธปท. ได้สื่อสารเกี่ยวกับแผนการออกพันธบัตร ธปท. ประจำปีมาโดยตลอด เพื่อให้ผู้ร่วมตลาดสามารถวางแผนบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสมนั้น
ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั้งในและต่างประเทศเป็นวงกว้าง ตลาดพันธบัตรมีความผันผวนเพิ่มขึ้นและคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงในระยะต่อไป นอกจากนี้ การระดมทุนของภาครัฐเพื่อรองรับมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบโควิด-19 อาจส่งผลต่ออุปทานพันธบัตรภาครัฐโดยรวม
ธปท. จึงได้หารือร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ถึงแนวทางการกำหนดวงเงินพันธบัตรภาครัฐให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยคำนึงถึงแผนการระดมทุนภาครัฐและความต้องการลงทุนที่อาจปรับเปลี่ยนรวดเร็วในสภาวการณ์ข้างต้น
ในการนี้ธปท. จึงพิจารณาปรับแผนการออกพันธบัตร ธปท. ปี 2563 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับแผนการออกพันธบัตร ธปท. เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
1.กำหนดการประมูลพันธบัตร: ธปท. ยังกำหนดวันและความถี่ในการประมูลพันธบัตร ธปท. ประเภทอายุต่างๆ ไว้ตามแนวปฏิบัติเดิม อย่างไรก็ดี ธปท. อาจพิจารณาปรับความถี่การประมูลและวงเงินของพันธบัตร ธปท. ระยะ 3 เดือน 6 เดือน และพันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่บางรุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับการประมูลตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลที่ระยะเดียวกันในแต่ละสัปดาห์ โดยสรุปรายละเอียดได้ดังนี้
ประเภทพันธบัตร | วันประมูล | ความถี่ในการประมูล |
1. พันธบัตรประเภทที่จำหน่ายเป็นส่วนลด | ||
2 สัปดาห์ | วันศุกร์ | ตามความเหมาะสม |
1 เดือน | วันอังคาร | ตามความเหมาะสม |
3 และ 6 เดือน | วันอังคาร | ทุกสัปดาห์ |
1 ปี | วันอังคาร | ทุกเดือน |
2. พันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ | ||
2 ปี | วันพฤหัสบดี | ทุกเดือน |
3 ปี | วันพฤหัสบดี | ทุกเดือนคี่ |
3. พันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว | ||
3 ปี | วันศุกร์ | ทุกเดือนคู่ |
2.วงเงินการออกพันธบัตร: ธปท. ขยายกรอบวงเงินพันธบัตรประเภทที่จำหน่ายเป็นส่วนลดทุกรุ่นอายุเป็น 10,000-60,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำหนดปริมาณพันธบัตร ธปท. ให้สอดคล้องกับแผนการระดมทุนภาครัฐและความต้องการลงทุนพันธบัตรในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้
ประเภท | วงเงินประมูลต่อครั้ง(ล้านบาท) | วงเงินรวมต่อรุ่น (ล้านบาท) | จำนวนรุ่นต่อปี (รุ่น) |
1.พันธบัตรประเภทที่จำหน่ายเป็นส่วนลด | |||
2 สัปดาห์ | 10,000-60,000 | 10,000-60,000 | ตามความเหมาะสม |
1 เดือน | 10,000-60,000 | 10,000-60,000 | ตามความเหมาะสม |
3 และ 6 เดือน | 10,000-60,000 | 10,000-60,000 | 50 – 52 |
1 ปี | 10,000-60,000 | 10,000-72,000 | 12 |
2.พันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ | |||
2 ปี | 15,000-35,000 | 45,000-252,000 | 3 |
3 ปี | 15,000-45,000 | 45,000-162,000 | 2 |
3.พันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว | |||
3 ปี | 8,000-25,000 | 48,000-180,000 | 1 |
3.การประกาศกำหนดการออกพันธบัตร ธปท. รายเดือน: ธปท. จะประกาศตารางประมูลพันธบัตร ธปท. ให้ตลาดทราบล่วงหน้าทุกเดือนผ่านทาง website ของ ธปท. เช่นที่เคยปฏิบัติมา อย่างไรก็ดี ธปท. ขอสงวนสิทธิการปรับวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. ระหว่างเดือน กรณีตลาดการเงินมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ความต้องการพันธบัตรในระหว่างเดือนเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ โดย ธปท. จะแจ้งให้ตลาดทราบอย่างน้อย 2 วันทำการก่อนวันประมูลพันธบัตร
ในระยะต่อไป ธปท. จะประสานงานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิด ในการกำหนดวงเงินและประเภทอายุพันธบัตร ธปท. ให้เหมาะสมกับภาวะตลาดเงินและตลาดพันธบัตร รวมทั้งคำนึงถึงการออกตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ปริมาณพันธบัตรภาครัฐโดยรวมอยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา
รายงานข่าวจาก ธปท.ระบุว่า ประกาศฉบับใหม่เป็นการขยายกรอบวงเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อบริหารจัดการให้ปริมาณพันธบัตรภาครัฐอยู่ในระดับเหมาะสม และสอดคล้องกับภาพรวมของตลาด นอกจากนี้ ที่ผ่านมาพบว่าตลาดมีความผันผวนจนทำให้ความต้องการวงเงินพันธบัตรระหว่างเดือนเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ จึงเพิ่มความยืดหยุ่นให้ ธปท.สามารถปรับวงเงินการประมูลได้ โดยจะแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วันทำการก่อนวันประมูล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 63)
Tags: ตราสารหนี้, ตลาดเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., พันธบัตร