นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจมาตรการป้องกันโควิด – 19 ภายในตลาดนัดจตุจักรว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ตลาดนัดจตุจักรกลับมาเปิดให้บริการหลังจากหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา
สำหรับตลาดนัดจตุจักรมีผู้ค้าทั้งหมด 10,334 ราย ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการนั้นตลาดนัดเสาร์ – อาทิตย์ จะเปิดให้บริการเวลา 05.00 – 18.00 น. ส่วนพื้นที่ผู้ค้าลานเร่บริเวณหอนาฬิกาและตลาดกลางคืนยังไม่เปิดให้บริการเนื่องจากติดเวลาเคอร์ฟิว
ทั้งนี้ สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (ตลาดนัดจตุจักร) ได้จัดเตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด – 19) ในตลาดนัดจตุจักร ดังนี้ กำหนดทางเข้า-ออก จุดคัดกรอง จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1. บริเวณประตู 1 ด้านถนนกำแพงเพชร 2 2. บริเวณประตู 2 ด้านถนนกำแพงเพชร 3 3. บริเวณประตู 3 ด้านถนนพหลโยธิน 4. บริเวณประตูทางเข้า – ออก สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (รฟม.) 5. บริเวณประตูทางเข้า-ออก ติดห้างมิกซ์ และ 6. บริเวณประตูทางเข้า – ออก ติดตลาดจตุจักรพลาซ่า (เจ เจมอลล์) โดยอนุญาตให้รถเข้า – ออกได้ทางประตู 1 – 3 เท่านั้น
ส่วนคนเดินเท้าเข้า – ออกได้ทั้ง 6 ประตู ซึ่งบริเวณทางเข้า – ออก ทั้ง 6 จุด มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและจัดแอลกอฮอล์เจลฆ่าเชื้อโรค และอ่างล้างมือแบบเหยียบครบทุกจุด โดยผู้ค้าและประชาชนที่มาใช้บริการ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกคน รวมถึงมีการกวดขัน การทำความสะอาดห้องสุขาสาธารณะ จำนวน 8 แห่ง ภายในตลาดนัดทุกๆ 2 ชั่วโมง ตามที่กำหนดไว้
สำหรับผู้ค้าประเภทอาหาร ต้องปฏิบัติตามมาตรการ ที่กำหนดไว้ เช่น จัดหาฉากพลาสติกปิดกั้นอาหารปรุงสำเร็จ หรือภาชนะมีฝาปิด และจัดโต๊ะนั่งรับประทานพร้อมมีฉากกั้น เว้นระยะห่าง 1 – 2 เมตร สำหรับที่นั่ง และมีการกำหนดจำนวนบุคคลเข้าภายในร้าน อาทิ ร้านค้าขนาดเล็ก ให้เข้าครั้งละ 5 คน ร้านค้าขนาดใหญ่ เข้าครั้งละไม่เกิน 10 คน เป็นต้น ซึ่งหากมีการตรวจพบผู้ค้ากระทำการฝ่าฝืนจะมีการตักเตือนและทำหนังสือแจ้งเตือนไว้ และหากยังพบกระทำผิดซ้ำก็จะทำการปิดร้านค้าดังกล่าวทันที
นอกจากนี้ยังได้มีมาตรการสำหรับผู้ให้บริการ (ผู้ค้า) ประกอบด้วย 1. ผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรทุกคนต้องรวบผม ใส่หมวก ใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย อย่างถูกวิธีโดยปิดทั้งจมูกและปาก 2. หากมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบให้หยุดขายและไปพบแพทย์ทันที 3. กรณีขายอาหารปรุงสำเร็จ ให้ใส่ถุง หรือภาชนะมีฝาปิด หรือจัดทำอุปกรณ์ครอบหรือกันอาหาร
4. กรณีขายอาหารสด ประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไม่ให้ลูกค้าสัมผัสอาหารสดนั้นโดยตรง 5. ทำความสะอาดแผงขายสินค้าด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว) 0.1% ทุกวันก่อนปิดแผงค้า และ 6. เจ้าของต้องกำกับกิจการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด อีกทั้งได้แนะนำผู้ให้บริการ (ผู้ค้า) ระมัดระวัง ไม่ให้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก และหมั่นลงมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% สำหรับทำความสะอาดมือก่อน – หลังเข้ามาใช้บริการตลาด และหลังจากการใช้ห้องน้ำ และห้องสุขาสาธารณะ
นางวัลยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด – 19) ให้กับผู้ค้า เบื้องต้นกรุงเทพมหานครจึงได้งดเก็บค่าเช่าจากผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรเป็นเวลา 3 เดือน คือ เดือน มี.ค. – พ.ค. 63 ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อขอให้การรถไฟงดเก็บค่าเช่าตลาดจากกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 9 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค. – พ.ย. 63 แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครขอความร่วมมือผู้ค้า และประชาชนที่จะมาเลือกซื้อสินค้าที่ตลาดนัดจตุจักรได้ปฏิบัติตามมาตรการและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโควิด – 19 เพราะหากตรวจพบมีการฝ่าฝืนหรือพบการติดเชื้อในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรอาจจะต้องมีการพิจารณาถึงการปิดพื้นที่หรือปิดตลาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 63)
Tags: COVID-19, กรุงเทพมหานคร, ตลาดนัด, ตลาดนัดจตุจักร, วัลยา วัฒนรัตน์, โควิด-19