นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะให้ยั่งยืน มีผลผลิตที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการบริโภค การตลาด และการแปรรูป
รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ ซึ่ง “แพะขุน” นับเป็นสินค้าปศุสัตว์ทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ปัจจุบันได้รับความนิยมเลี้ยงในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สำหรับการค้าและบริโภค เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ทนทานต่อทุกสภาพภูมิอากาศ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย และให้ผลตอบแทนเร็ว
ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งผลิตแพะที่สำคัญรองจากภาคใต้และภาคกลาง โดยพบการเลี้ยงมากในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยปี 64 (ข้อมูลสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ณ วันที่ 17 ม.ค. 65) มีการเลี้ยงแพะเนื้อ รวม 4 จังหวัด 160,146 ตัว เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 86,118 ตัว (เพิ่มขึ้น 86%) เกษตรกรผู้เลี้ยง 6,583 ราย
ทาง สศท.5 ได้ศึกษาวิจัยการผลิตและการตลาดแพะขุนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงแพะเนื้อมากที่สุด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 โดยมีแพะเนื้อจำนวน 103,612 ตัว (คิดเป็น 65% ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1) และมีเกษตรกรผู้เลี้ยง 3,765 ราย (คิดเป็น 57% ของของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1)
ทั้งนี้ เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงแพะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกแพะสำหรับขุนเอง หากเป็นลูกแพะเพศเมียจะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นแม่พันธุ์ ส่วนเพศผู้เกษตรกรจะขุนเพื่อจำหน่ายให้กับพ่อค้า สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เป็นของตนเอง หรือผลิตลูกแพะได้ไม่เพียงพอ ต้องซื้อลูกแพะสำหรับขุนจากพ่อค้า
ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงแพะขุนส่วนใหญ่ คือ ต้นกระถิน ซึ่งหาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยน้ำหนักแพะขุนที่เกษตรกรนิยมจำหน่าย คือ ไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ตัว เนื่องจากได้รับราคาสูง และใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนความรู้ด้านการผลิต เช่น การคัดเลือกและผลิตสายพันธุ์แพะเนื้อ การป้องกันและรักษาโรค และการบริหารจัดการฟาร์ม เป็นต้น
ในส่วนของต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตแพะขุนของจังหวัดนครราชสีมา พบว่า มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 1,416 บาท/ตัว หรือ 64 บาท/กิโลกรัม โดยแม่พันธุ์ 1 ตัว โดยใน 1 ปี แม่พันธุ์สามารถให้ลูกได้ 1-2 รุ่น (รุ่นละ 1-2 ตัว) สำหรับแพะเพศเมีย จะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือน และให้ลูกประมาณ 5 ปี จึงปลดระวาง ซึ่งเกษตรกรเลี้ยงแพะขุนได้ประมาณ 4 เดือน ก็สามารถจำหน่ายให้กับพ่อค้าได้ ในราคาเฉลี่ย 2,151 บาท/ตัว หรือ 98 บาท/กิโลกรัม (น้ำหนักเฉลี่ย 22 กิโลกรัม/ตัว) คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 735 บาท/ตัว หรือ 33 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีรายได้จากการจำหน่ายมูลแพะเฉลี่ย 10 บาท/ตัว
สำหรับสถานการณ์ตลาดแพะขุน เกษตรกรจะจำหน่ายให้กับผู้รวบรวมในจังหวัด และพ่อค้าต่างจังหวัดซึ่งผู้ซื้อจะเป็นผู้ขนส่งแพะขุนและรับภาระค่าขนส่งทั้งหมด สำหรับผู้รวบรวมในจังหวัด เมื่อรวบรวมแพะขุนมีชีวิตจากเกษตรกรจะจำหน่ายต่อให้กับพ่อค้าจากต่างจังหวัด และต่างประเทศ โดยผู้ซื้อจะนำรถมาขนส่งแพะขุน มีชีวิตที่คอกพัก หรือจุดนัดหมายในพื้นที่ และเป็นผู้รับภาระค่าขนส่งทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ 74% จำหน่ายแพะขุนมีชีวิตให้ผู้รวบรวมในจังหวัด และ 26% จำหน่ายพ่อค้าต่างจังหวัด ทั้งนี้ ผู้รวบรวมในจังหวัดจะจำหน่ายแพะขุนต่อให้กับพ่อค้าต่างจังหวัด 61% ส่วนอีก 13% จำหน่ายให้กับพ่อค้าจากประเทศเวียดนาม
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ราคาจำหน่ายแพะขุนต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณการผลิตแพะขุนของเกษตรกรยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด อีกทั้งความต้องการของตลาดแพะขุนยังมีมาก ที่สำคัญแพะขุนเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตไว ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ไม่ต้องจ้างแรงงานภายนอก เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองในครัวเรือน รวมถึงมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ จึงนับว่าการเลี้ยงแพะขุน เป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน สามารถทำได้เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม”
นางสุจารีย์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 65)
Tags: ปศุสัตว์, สศก., สุจารีย์ พิชา, เกษตรกร, เลี้ยงแพะ, แพะขุน