นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การโควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.ชุดใหญ่) ได้มีมติเห็นชอบเรื่องสำคัญ ได้แก่
- ขยายขยายระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 สิ้นสุด 31 มี.ค.65
- ปรับลดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เหลือ 44 จังหวัด จาก 69 จังหวัด โดยให้ปรับเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 25 จังหวัด และคงพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัด
- ปรับเวลาดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารเป็นถึง 23.00 น.จาก 21.00 น. ทั้งในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น และตามาตรการ COVID Free Setting
- ให้ปรับใช้ Work from Home (WFH) ตามความเหมาะสม จากเดิมขอความร่วมมือสิ้นสุด 31 ม.ค.65
- เปิดลงทะเบียน Test&Go ได้อีกครั้งตั้งแต่ 1 ก.พ. 65 โดยปรับเป็นการตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง
- ให้ขยาย Sandbox ชลบุรี (อ.บางละมุง เมืองพัทยา อ.ศรีราชา อ.เกาะสีชัง อ.สัตหีบ เฉพาะต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่) และตราด พร้อมเปิดพื้นที่เชื่อมโยง Sandbox เดิม
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานกาณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ทั่วราชอาณาจักร ไปอีก 2 เดือน หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. – 31 มี.ค. 2565
ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรโดยปรับพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จากเดิม68 จังหวัดปรับเป็น 44 จังหวัด และเพิ่มพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) เป็น 25 จังหวัด ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ยังคง 8 จังหวัดเหมือนเดิม ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา และภูเก็ต โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.65เป็นต้นไป
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการปรับมาตรการผ่อนคลาย กิจการและกิจกรรมในพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) สามารถบริโภคอาหารในร้านได้ตามปกติแต่ห้ามบริโภคสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.สามารถพิจารณากำหนดมาตรการ และเวลาเพิ่มเติมได้ตามสถานการณ์ของพื้นที่ได้ รวมถึงสามารถจัดการประชุม จัดงานแสดงสินค้า และจัดงานอื่นๆได้ เช่น งานแต่งงาน ได้แต่ต้องไม่เกิน 1,000 คน พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) สามารถบริโภคอาหารในร้านได้และเปิดได้ตามปกติ
ในส่วนของมาตรการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร เนื่องจากพบการระบาดในร้านอาหารที่มีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่จำนวนมาก ประกอบกับมีการแจ้งจากผู้ประกอบการขอขยายเวลาบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดังนั้น ที่ประชุม ศบค.ปรับมาตรการการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านหรือสถานที่ที่มีลักษณะเดียวกันในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) และพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จากเดิมบริโภคได้ถึงเวลา 21.00 น.ปรับเป็นไม่เกิน 23.00 น. แต่ต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น และตามมาตรการ COVID Free Setting
ส่วนสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการสถานบันเทิง ผับ บาร์ และคาราโอเกะนั้น ให้ผู้ประกอบการสามารถปรับมาตรการตามที่กำหนด และสามารถขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ ได้ เมื่อมีความพร้อมโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา จากเดิมก่อนวันที่ 15 ม.ค.
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการเปิดโรงเรียน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการแจ้งว่า มีโรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง สามารถเปิดเรียนได้แล้ว 17,000 กว่าแห่ง ยังเหลืออีกหมื่นกว่าแห่งที่มีนักเรียนหลักพันไม่สามารถเปิดเรียนได้ เนื่องจากมีข้อติดขัดเรื่องการเว้นระยะห่างของเด็กนักเรียนในชั้นเรียน จึงทำให้เป็นข้อจำกัด ซึ่งทาง ผอ.ศบค.ม อบหมาย ผอ.ศปก.หารือในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เด็กนักเรียนกลับมาเรียนในโรงเรียน เพราะถึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
นอกจากนี้ ศบค.ยังเห็นชอบปรับมาตรการป้องกันโควิด-19 สำหรับทุกพื้นที่ อาทิ ไม่ขยายเวลาการทำงานที่บ้าน (work from home) จากเดิมที่ให้สิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค.นี้ โดยให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของแต่ละหน่วยงาน
ทั้งนี้ ศบค.เห็นชอบปรับรูปแบบและลดวันกักตัว สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อจากเดิม 10 วัน เป็นกักตัว 7 วัน และให้สังเกตอาการอีก 3 วัน ตรวจหาเชื้อด้วย ATK โดยการตรวจสอบอาการป่วยของตนเองทุกวัน ตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ในวันที่ 5 หรือวันที่ 6 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย และสังเกตอาการอีก 3 วัน สามารถออกนอกพื้นที่ไปทำงานได้ แต่ให้เลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ หรือเข้าพื้นที่แออัด ป้องกันตัวเองสูงสุด และตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับการปรับมาตรการป้องกันควบคุม โควิด-19 ในส่วนการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ศบค.เห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ ประกอบด้วย 1.ระบบไม่กักตัว (Test and Go) เริ่ม 1 ก.พ. 65 อนุญาตให้เข้ามาได้ทุกประเทศ ปรับการตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง มีหลักฐานการจองโรงแรมที่พักในวันแรกและในวันที่ 5 โดยเป็นโรงแรมที่มีโรงพยาบาลคู่สัญญา (SHA++AQ OQ หรือ AHQ) รวมถึงมีหลักฐานชำระเงินการตรวจหาเชื้อจำนวน 2 ครั้ง จัดระบบการตรวจสอบและกำกับการเข้าที่พักและตรวจหาเชื้อให้ครบสองทางโดยต้องรออยู่ในห้องพัก หรือสถานที่ที่กำหนดจนกว่าจะได้รับผลการตรวจ และกำหนดระบบประกันให้ชัดเจน กรณีประกันไม่ครอบคลุมผู้เดินทางจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
2. ระบบการเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ในรูปแบบพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (Sandbox) เพิ่มเติม เปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป ในพื้นที่ อำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่ จังหวัดชลบุรี เกาะช้าง จังหวัดตราด และการเปิดพื้นที่ให้เดินทางเชื่อมโยงในกลุ่มพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) ในช่วง 7 วันที่ต้องพำนักในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว
โดยยังคงต้องเคร่งครัดการมีหลักฐานจองที่พัก 7 วันในโรงแรมที่กำหนด และการตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ใน วันที่ 0-1 และ วันที่ 5-6 รวมถึงมีระบบการตรวจสอบ และกำกับการเข้า-ออกโรงแรมทุกวัน เป็นเวลา 7 วันในพื้นที่ นำร่องการท่องเที่ยว หรือในกลุ่มจังหวัด โดยไม่เกิน 3 โรงแรม
นอกจากนี้ ปรับมาตรการในการติดตามตัวเพื่อให้สามารถดำเนินการและติดตามได้ โดยให้โรงแรมเป็นผู้ตรวจสอบการเข้าพักทุกวัน เป็นระยะเวลา 7 วัน และมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ SHA Manager หรือ COVID Manager ทั้งนี้ ผู้เดินทางสามารถเดินทางไป-กลับในจังหวัดใกล้เคียงได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผอ.ศบค.เน้นย้ำว่า ต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ได้ในนักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางเข้ามา หลายประเทศและยกเลิกมาตรการดังกล่าวไปแล้วพอสมควร แต่สำหรับประเทศไทยพยายามให้มีการขับเคลื่อนต้องทางเศรษฐกิจไปด้วย เพราะคนไทย นักเรียน นักศึกษายังคงต้องการกลับมายังประเทศไทย ซึ่งถือว่าระบบดังกล่าวยังมีความสำคัญ เนื่องจากถือเป็นแหล่งรายได้ทั้งตลาดในประเทศประมาณ 137,712 ล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 26,065 ล้านบาท โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 338,645 คน
พร้อมกันนี้ ศบค. ยังได้เห็นชอบแผนการบริหารจัดการวัคซีน โควิด-19 โดยมีการปรับฐานประชากรสำหรับกำกับติดตามการได้รับวัคซีนของประเทศไทย โดยทบทวนฐานข้อมูลจำนวนประชากรจากแหล่งต่างๆ ดังนี้ เช่น ฐานประชากรตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย จำนวนประชากร 66.17 ล้านคน, ฐานประชากรตามสิทธิการรักษาจากข้อมูลจังหวัด จำนวนประชากร 60.66 ล้านคน, ฐานประชากรไทยตามสิทธิการรักษาจากข้อมูล สปสช. จำนวนประชากร 66.78 ล้านคน ร่วมกับฐานประชากรต่างชาติตามสิทธิการรักษาจากพื้นที่จำนวนประชากร 1.8 ล้านคน รวมจำนวนประชากรไทยและต่างชาติตามสิทธิการรักษา 68.60 ล้านคน รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลรวม โดยใช้ฐานประชากรไทยและต่างชาติตามสิทธิการรักษา (68.60 ล้านคน) รวมกับการสำรวจจำนวนประชากรที่ไม่มีสิทธิการรักษาทั้งที่มีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติไทยจากแต่ละจังหวัด (0.96 ล้านคน) รวมเป็น 69.60 ล้านคน
สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในเดือนก.พ. 65 รวมทั้งสิ้น 11.6 ล้านโดส แบ่งเป็น 4 แผน คือ 1.แผนบริการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี วัคซีนไฟเซอร์ สูตรฝาสีส้ม ผ่านระบบสถานศึกษา ในกลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งคาดว่าจะมาในช่วงปลายเดือนม.ค.นี้
ทั้งนี้ วัคซีนในล็อตถัดไป ดำเนินการผ่านระบบสถานศึกษา จัดสรรให้เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในทุกจังหวัดเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจัดสรรให้นักเรียนชั้นปีอื่นถัดไปตามลำดับ ประมาณต้นเดือนก.พ. 65
2.แผนการรณรงค์เร่งรัดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ในจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) และพื้นที่ระบาดเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเปิดการเดินทางในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
3.แผนการส่งคืนวัคซีนแรกเปลี่ยนคืนต่างประเทศ ส่งคืนประเทศสิงคโปร์และภูฐาน
4.แผนการบริจาควัคซีนแก่ต่างประเทศให้กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในทวีปแอฟริกา ผ่านโครงการ African Vaccine Association Trust (AVAT) หรือองค์การอนามัยโลก รวมถึงดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จำนวนประมาณ 5-10 ล้านโดส
ทั้งนี้ จะมีการกระจายวัคซีนไปในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) และพื้นที่ระบาดให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 65)
Tags: Test&Go, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ศบค.