นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์”ว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/63 ของกลุ่ม บมจ.ปตท.(PTT) ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างหนัก เบื้องต้นประเมินว่ากลุ่ม ปตท.โดยเฉพาะธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีจะขาดทุนสต็อกน้ำมันในไตรมาส 1/63 รวมมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้บริษัทแม่ คือ PTT ที่เตรียมรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/63 ในวันที่ 11 พ.ค.นี้คาดการณ์ว่าจะขาดทุนสุทธิกว่า 2.4 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 มีกำไรสุทธิกว่า 1.74 หมื่นล้านบาท
นอกจากผลประกอบการของบริษัทลูกในเครือ ปตท.จะย่ำแย่แล้ว ธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ PTT ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยทั้งราคาขายและปริมาณที่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการปิดซ่อมบำรุง GSP5 เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะปรับฐาน แต่มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลก หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายล็อกดาวน์ และผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีแผนร่วมกันว่าต้องการลดกำลังการผลิตรวมประมาณ 10 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน พ.ค.นี้ และนอกกลุ่มโอเปกพลัสอีก 5 ล้านบาร์เรล/วัน นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มราคาน้ำมันโลกในระยะถัดไป ถึงแม้ว่าจะยังมีความกังวลกับปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย แต่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่น่าจะประคองกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการในช่วงสั้นเพื่อบรรเทาแรงกดดันของราคาน้ำมันโลกที่อาจจะกลับมาลดลงรุนแรงอีกครั้ง
นางสาวนลินรัตน์ กล่าวต่อว่า เมื่อสถานการณ์น้ำมันตลาดโลกเป็นเช่นนี้ทำให้ทิศทางราคาหุ้นในกลุ่มปตท. มีความเสี่ยงขาลงที่จำกัดมากขึ้น เป็นไปได้ว่าผลประกอบการในไตรมาส 1/63 ของบริษัทแม่ บมจ.ปตท.และกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี จะเป็นจุดต่ำสุดในรอบปีนี้ ก่อนจะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/63 เป็นต้นไป
สำหรับมุมมองลงทุนในหุ้นกลุ่มปตท. อยากแนะนำนักลงทุนจับจังหวะเข้าซื้อสะสม แต่ไม่ต้องเร่งรีบเข้าไปไล่ราคา เพราะปัจจุบันราคาหุ้นกลุ่มปตท. ได้ปรับขึ้นมามากแล้วหลังจากปรับตัวลดลงแรงในช่วงก่อนหน้านี้ แม้ว่าราคาหุ้นกลุ่มปตท.ในปัจจุบันจะยังมีอัพไซด์และเคลื่อนไหวต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่นักวิเคราะห์ประมาณการ แต่บรรยากาศการลงทุนโดยรวมยังมีความคลุมเครือของปัจจัยไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังไม่มีวัคซีนรักษา
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายกลายเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจรอบใหม่ จะเป็นตัวแปรสำคัญผลักดันหุ้นกลุ่มปตท.พลิกกลับมา Outperform ได้อีกครั้ง
“แม้ว่าราคาน้ำมันโลกวันนี้แกว่งตัว 25-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นับว่าต่ำกว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัยฯประเมินทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ถ้าย้อนมองตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ราคาน้ำมันยังเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นั้นแปลว่าหากในช่วงที่เหลือของปีราคาน้ำมันกลับมาปรับตัวดีขึ้นน่าจะมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ตามกรอบที่ฝ่ายวิจัยฯคาดการณ์ เป็นเหตุผลให้วันนี้ยังไม่มีแนวคิดทบทวนประมาณการหุ้น PTT แต่เราได้ทำสมมติฐานไว้หลายกรณีคือถ้าราคาน้ำมันลดลง 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากสมมติฐาน 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะกระทบกำไรสุทธิของหุ้น PTT ลดลงราว 5-8% และกระทบมูลค่าพื้นฐานลดลงอีก 2-3 บาท/หุ้นจากปัจจุบันประเมินมูลค่าพื้นฐาน PTT อยู่ที่ 42 บาท/หุ้น ซึ่งในวันนี้ราคาหุ้น PTT แกว่งตัว 34-35 บาท/หุ้น เป็นสิ่งสะท้อนว่าหุ้น PTT ได้ปรับตัวลงมาตอบรับกับกรณีเลวร้ายหากน้ำมันดิ่งลงมาแถวๆ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว” นางสาวนลินรัตน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 63)
Tags: PTT, นลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์, ผู้ผลิตน้ำมัน, ราคาน้ำมัน, หุ้นไทย, เอเซีย พลัส