สถานการณ์บนคาบสมุทรไครเมียกลับมาร้อนระอุอีกครั้งเมื่อช่วงปลายปี 2564 จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีวิวาทะให้เห็นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีชนวนเหตุสำคัญมาจากการที่รัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งเมื่อปี 2557 ซึ่งขณะนั้นแคว้นไครเมียอยู่ภายใต้การปกครองของยูเครน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัสเซียได้ส่งกองกำลังไปประชิดพรมแดนยูเครนเพื่อกันท่าไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การนาโต หนีไม่พ้นสหรัฐและกลุ่มประเทศในยุโรปจะต้องโดดลงมาเล่นเกมความสัมพันธ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างรัสเซียและยูเครนอีกครั้ง
In Focus สัปดาห์นี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปย้อนดูเหตุการณ์ที่ผ่านมาและจับตาวิกฤตการณ์รอบใหม่
- ปฐมบทศึกเกาเหลา: ชนวนเหตุไครเมีย
แม้รัสเซียและยูเครนจะมีความเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนในทางการเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเชื้อชาติ โดยเฉพาะในฐานะที่ต่างก็เคยเป็นอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตก่อนจะล่มสลายในปี 2534 และแตกออกเป็น 15 ประเทศกระจายอยู่ในยุโรปและเอเชีย โดยยูเครนนั้นอยู่ในยุโรปตะวันออก แต่หลังแยกตัวออกมาแล้ว ขั้วการเมืองภายในยูเครนได้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เอียงไปทางยุโรปและนาโต (NATO หรือองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) และฝ่ายที่ยังคงฝักใฝ่รัสเซีย นอกจากนี้ ปัญหาภายในของยูเครนทั้งการคอร์รัปชั่นในวงกว้าง ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดการพัฒนา รวมถึงแก๊งมาเฟียครองเมือง ได้กัดกร่อนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน สร้างความขุ่นเคืองสั่งสมมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงฟางเส้นสุดท้ายในเดือนพ.ย. 2556 อดีตประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิชของยูเครน ประกาศว่าจะไม่ลงนามในข้อตกลงกับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นความหวังสำหรับประชาชนยูเครนที่จะได้ลืมตาอ้าปาก มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากข้อตกลงนี้มีสาระสำคัญที่ระบุว่ายูเครนจะได้รับการพัฒนาและปฏิรูปทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้สอดคล้องกับกลุ่ม EU การปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าวนำไปสู่การชุมนุมประท้วงในภูมิภาคยูเครนตะวันตก ซึ่งเรียกว่า การประท้วง Euromaidan ซึ่งกินเวลาตั้งแต่เดือนพ.ย. 2556 จนถึงเดือนก.พ. 2557
ตัดฉากมาที่ยูเครนฝั่งตะวันออกซึ่งความโกลาหลเพิ่งเริ่มต้นขึ้นก่อนที่ไครเมียจะตกไปเป็นของรัสเซีย หลังจากที่อดีตปธน.ยานูโควิช ถูกรัฐสภาถอดถอนออกจากตำแหน่ง รัฐสภายูเครนได้ลงมติยกเลิกไม่ให้ภาษารัสเซียเป็นภาษาทางการในเมืองทางใต้ของประเทศอย่างไครเมีย (Crimea) ซึ่งเคยอยู่ในความครอบครองของรัสเซียมาก่อน และเมืองเซวาสโตโพล (Sevastopol) ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือรัสเซีย ประชาชนจำนวนมากซึ่งเป็นชาวรัสเซียหรือชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซียจึงไม่พอใจและไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลรักษาการซึ่งมาจากผู้นำพรรคฝ่ายค้าน โดยมองว่าขาดความชอบธรรมทางการเมือง นำไปสู่การชุมนุมประท้วงรัฐบาลรักษาการในทั้งสองเมืองและจัดตั้งสภาท้องถิ่นขึ้นมาเอง โดยไครเมียได้หันไปซบอกเพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย และมีการลงประชามติเกิดขึ้นในเดือนมี.ค. 2557 ผลก็คือประชาชนเทคะแนนสนับสนุนอย่างถล่มทลายถึง 96.8% ขณะที่รัสเซียก็ลงนามในสนธิสัญญารับไครเมียกลับเข้าสู่อ้อมอกอีกครั้งในฐานะจังหวัดหนึ่ง แน่นอนว่าทั้งยูเครน และกองเชียร์อย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐไม่ยอมรับการแบ่งแยกดินแดนไครเมีย จนนำไปสู่การคว่ำบาตรรัสเซียในเวลาต่อมา
- มหาอำนาจร่วมผ่าทางตัน หลังรัสเซียส่งกองกำลังประชิดยูเครน
หลังเหตุการณ์อันเป็นจุดเปลี่ยนในปี 2557 ความขัดแย้งที่นับวันยิ่งยากจะประสานระหว่างรัสเซียและยูเครนยังมีให้เห็นกันอยู่เนือง ๆ ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัสเซียได้ส่งกองกำลังเกือบแสนนายไปประชิดบริเวณแนวชายแดนยูเครนเพื่อเป็นการข่มขวัญ เพราะไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การนาโต ด้วยต้องการเก็บยูเครนไว้เป็นกันชนกับยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นสมาชิกหลักของนาโต เพราะหากยูเครนได้เข้าร่วมกับนาโตเมื่อใดแล้วละก็ จากที่เคยเป็นลูกไล่ของรัสเซียก็จะกลายมาเป็นหอกข้างแคร่อย่างเต็มตัว ขณะเดียวกัน แม้รัสเซียจะส่งสัญญาณเหมือนพร้อมไฝว้ แต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เคยพูดไว้ตามที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อเดือนธ.ค.ว่า รัสเซียต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะกับยูเครนและชาติตะวันตก พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐและชาติพันธมิตรรับรองความปลอดภัยของรัสเซียในทันที และเมื่อถูกถามว่า เป็นไปได้ไหมที่รัสเซียจะปะทะกับยูเครน ผู้นำแดนหมีขาวก็ตอบว่า “นั่นไม่ใช่ทางเลือกที่รัสเซียอยากได้ เราไม่ต้องการให้เกิดเรื่องนี้” และยังปฏิเสธยังข้อกล่าวหาของสหรัฐและยูเครนที่ว่ารัสเซียกำลังเตรียมรุกรานยูเครนภายในเดือนหน้าด้วยการส่งกำลังพลจำนวนหลายหมื่นนายเข้าประชิดชายแดน
ขณะเดียวกัน ผู้นำแดนหมีขาวยังตำหนินาโตที่รุกคืบขยายอาณาเขตเข้าสู่ยุโรปตะวันออกหลายครั้งนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และเรียกร้องให้มีการรับประกันความปลอดภัยของรัสเซียโดยด่วน และขอให้ชาติตะวันตกให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ยุโรปตะวันออก เนื่องจากความปลอดภัยของรัสเซียนั้นถูกคุกคามโดยความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและชาติตะวันตก รวมถึงการที่นาโตเล็งตั้งฐานยิงขีปนาวุธในยูเครนเพื่อใช้โจมตีรัสเซีย
ส่วนในการเจรจาล่าสุดเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งซึ่งจัดที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีสหรัฐ รัสเซีย นาโต รวมถึงองค์กรความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (OSCE) เข้าร่วมก็ยังคงคว้าน้ำเหลว เนื่องจากต่างฝ่ายต่างยังคงยืนยันในจุดยืนของตัวเอง โดยรัสเซียได้ยื่นข้อเสนอสำคัญคือ นาโตจะต้องไม่รับยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก และยุติการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารทันทีโดยให้มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังขอให้นาโตและชาติตะวันตกหยุดแผ่อิทธิพลมายังยูเครน
ทางด้านสหรัฐได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมเปิดกว้างในการเจรจา และยังได้พูดถึงโอกาสที่จะลดการติดตั้งขีปนาวุธในยูเครนและจำกัดการซ้อมรบทางทหารของสหรัฐกับนาโต หากรัสเซียยินดีถอยออกจากยูเครน พร้อมกับย้ำว่าสหรัฐเชื่อมั่นในแนวทางการทูต รวมถึงการเจรจาในประเด็นอื่น ๆ ว่ายังเป็นไปได้
ด้านนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต กล่าวว่า แม้ความต้องการของนาโตและรัสเซียอาจไม่ตรงกันในหลายประเด็น แต่ทุกฝ่ายก็ได้ร่วมเจรจา และยินดีที่จะเจรจาต่อในอนาคต โดยนายสโตลเทนเบิร์กยังได้กล่าวในการประชุมอีกเวทีหนึ่งซึ่งนาโตจัดขึ้นร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย ณ ประเทศเบลเยียมว่า “เราไม่ควรคาดหวังว่าการประชุมเหล่านี้จะสามารถแก้ไขได้ทุกปัญหา แต่เราหวังที่จะเห็นพ้องต้องกันในการก้าวไปข้างหน้า”
- พลังงาน : เครื่องมือต่อรอง EU
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ด้านพลังงานของรัสเซียทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ยุโรปตะวันตกต้องพึ่งพาการนำเข้าจากรัสเซียเป็นอย่างมาก หากรัสเซียเลือกที่จะใช้ก๊าซมาเป็นเครื่องต่อรองเพื่อลดความห้าวของยักษ์ใหญ่ในยุโรปก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานถึงวิกฤตด้านพลังงานที่รุนแรงเมื่อปี 2564 ซึ่งราคาก๊าซพุ่งทะยานกว่า 800% เนื่องจากดีมานด์ที่สูงท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็น ประกอบกับรัสเซียได้จำกัดปริมาณการส่งออกก๊าซ
นอกจากนี้ นายแดน เยอร์กิน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงาน ขณะที่สถานการณ์ความไม่แน่นอนอาจส่อเค้าว่า ราคาก๊าซในยุโรปจะยังคงสูงต่อไปอีกนาน “ตลาดก๊าซอยู่ในภาวะตึงตัวมาก ซึ่งชัดเจนว่า สถานการณ์ที่ใกล้เข้าสู่จุดวิกฤตระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นสร้างแรงกดดันต่อตลาด เนื่องจากรัสเซียส่งก๊าซให้ยุโรปคิดเป็นสัดส่วน 35%”
ทางด้านนายวิลเลียม แจ๊กสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายตลาดเกิดใหม่ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) ให้ความเห็นว่า นอกจากยุโรปจะต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียแล้ว ตอนนี้ปริมาณก๊าซในคลังสำรองยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่ว่าประเทศอื่นจะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อการส่งออกพลังงานของรัสเซีย หรือรัสเซียจะใช้การส่งออกก๊าซเป็นเครื่องต่อรองก็ตาม ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปก็อาจจะยังสูงอยู่ดี และยังกล่าวด้วยว่า หากการคว่ำบาตรเกิดขึ้นจริง ราคาก๊าซในยุโรปอาจพุ่งทะลุระดับ 180 ปอนด์ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว
… แม้หลายฝ่ายจะยังไม่สามารถหาทางออกเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในครั้งนี้ แต่อย่างน้อยโลกก็ได้เห็นความพยายามที่ฝ่ายเกี่ยวข้องหันหน้าเจรจากันและเชื่อว่าจะยังคงต้องเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในวันข้างหน้า… นับจากนี้ เราคงต้องลุ้นกันต่อไปว่าแสงสว่าง (ริบหรี่) ที่ปลายอุโมงค์สำหรับรัสเซียและยูเครนนั้นจะส่องลงมาเมื่อใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 65)
Tags: ก๊าซธรรมชาติ, ความขัดแย้ง, พลังงาน, ยูเครน, รัสเซีย