กษ.เร่งยกระดับผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก-ออกมาตรการฟื้นฟูผลกระทบจากโรค ASF

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้มีการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทุกภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความปลอดภัยทางด้านอาหารของผู้บริโภคภายในประเทศ รวมถึงความมั่นคงทางด้านอาชีพของเกษตรกรด้านปศุสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรรายเล็ก และเกษตรกรรายย่อย ยังประสบปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาโรคระบาด ทำให้เพิ่มต้นทุนของฟาร์ม เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาสัตว์ป่วย และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผลผลิตลดลง

กรมปศุสัตว์ จึงมีนโยบายให้มีการขับเคลื่อนฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสุกร (GFM) เพื่อยกระดับการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็ก และเกษตรกรรายย่อย ให้มีการจัดการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ซึ่งเป็นการลดปัญหาจากโรคระบาด และส่งเสริมให้สินค้าปศุสัตว์มีความปลอดภัย

สำหรับระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ประกอบด้วยการจัดการ 8 หัวข้อ คือ 1. การจัดพื้นที่เลี้ยงและโครงสร้าง 2. การจัดการโรงเรือนหรือเล้าและอุปกรณ์ 3. การจัดการยานพาหนะ 4. การจัดการบุคคล 5. การจัดการด้านสุขภาพ 6. การจัดการอาหาร น้ำ และยาสัตว์ 7. การจัดการข้อมูล และ 8. การจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกษตรกรสามารถปฏิบัติตามได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และใช้ต้นทุนต่ำ สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ที่อาจทำให้เกิดความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดโรคระบาดได้

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้วางมาตรการการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกร ที่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยในเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในเกษตรกรรายเล็ก และรายย่อยนั้น ในระยะแรก ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศให้คำแนะนำ และสำรวจความต้องการการเลี้ยงสุกรของเกษตรกร ภายใต้ตามมาตรการประเมินความเสี่ยง และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดี ที่ถูกต้อง และความพร้อมในการเลี้ยงสุกรใหม่ภายใต้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity)

ในขณะเดียวกัน ได้มีมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร เช่น พันธุ์สัตว์ราคาถูก (ลูกสุกรขุน สุกรแม่พันธุ์) โดยกรมปศุสัตว์และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร การให้คำแนะนำด้านพืชอาหารสัตว์ต่างๆ รวมทั้งการประสานหาแหล่งทุนสนับสนุนการเลี้ยงสุกร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (โครงการสานฝันสร้างอาชีพฯ รายละไม่เกิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 4% ต่อปี) กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร (กลุ่มวิสาหกิจ/กลุ่มจดทะเบียน/สหกรณ์) เป็นต้น

กรมปศุสัตว์ จึงเร่งผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงสัตว์และการจัดการที่ถูกต้อง โดยปัจจุบัน มีการรับรองฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในปศุสัตว์ 10 ชนิด ได้แก่ สัตว์ปีกพื้นเมือง ไก่ไข่ เป็ดเนื้อ เป็ดไข่ โคนม โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ และสุกร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top