คาทรีน่า เอลล์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของมูดี้ส์ อนาไลติกส์ แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาติดขัดในห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงมีอยู่นั้น มีสาเหตุหลักมาจากการที่จีนใช้นโยบายรักษาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดให้เป็นศูนย์หรือ Zero-Covid โดยปัจจุบันปัญหาคอขวดฝั่งอุปทานได้ดำเนินมายาวนานถึงหนึ่งปีแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ปัญหาดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายลงในช่วงต้นปีนี้
“การผลิตวัสดุต่าง ๆ จะเริ่มสร้างแรงกดดันขาลงต่อราคาผู้ผลิตและราคาปัจจัยการผลิต แต่นโยบาย Zero-Covid ของจีนที่ทำให้มีการปิดท่าเรือและโรงงานที่สำคัญอยู่บ่อยครั้ง ก็จะยังสร้างปัญหาติดขัดในส่วนนี้อยู่” เอลล์เผยกับผู้สื่อข่าวของในรายการ “Squawk Box Asia” ของสถานีโทรทัศน์ CNBC พร้อมกับเสริมว่า ปัจจัยนี้จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบัน
เอลล์ระบุว่า นโยบาย Zero-Covid ของจีนนั้นเพิ่มความเสี่ยงขาลงให้กับห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มฟื้นตัวตามการผลิตวัสดุ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงอิทธิพลและความสำคัญของเศรษฐกิจจีนในเวทีโลก โดยเธอคาดว่า อัตราเงินเฟ้อและท่าทีของธนาคารกลางต่าง ๆ จะมีผลต่อตลาดอย่างมากในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า รัฐบาลจีนได้ใช้นโยบาย Zero-Covid ตั้งแต่ที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเมื่อต้นปี 2563 โดยมีการบังคับกักตัวและจำกัดการเดินทางอย่างเคร่งครัดเพื่อสกัดการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางภายในเมืองเดียวกันหรือออกนอกประเทศ
มาตรการควบคุมโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่งทั่วโลก และยังได้ทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังเกิดความวิตกกังวลด้วยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายได้ง่ายจะก่อความเสียหายซ้ำเติมภาคการขนส่งอีกครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 65)
Tags: Zero-Covid, จีน, มูดี้ส์ อนาลิติกส์, ห่วงโซ่อุปทาน, อุตสาหกรรมการผลิต, เศรษฐกิจจีน