บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) คาดแนวโน้มตลาดและธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 30-38 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ท่ามกลางความไม่แน่นอนการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบกับน้ำมันดีเซลที่ 11-12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล พร้อมทั้งปรับแผนลดการผลิตน้ำมันอากาศยานจากความต้องการใช้ที่ลดลงทำให้คาดว่าทั้งปี 63 จะมีอัตราการใช้กำลังการกลั่น 97% จากเป้าหมาย 100% ด้านส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์พาราไซลีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าจะฟื้นขึ้นจากอุปสงค์ขั้นปลายน้ำยังเติบโตดี
ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 8,784 ล้านบาท จากรายได้การขายที่ลดลง และมาร์จิ้นธุรกิจปิโตรเคมีลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงมากในสิ้นไตรมาส ส่งผลให้ขาดทุนสต็อกรวม 8,906 ล้านบาท รวมถึงยังมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก 2,193 ล้านบาทกระทบต่อผลประกอบการ
PTTGC ระบุว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับให้เป็นภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมันระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศรัสเซียและประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว โรงกลั่นและโรงปิโตรเคมีในบางประเทศได้ลดกำลังการผลิตลงเพื่อตอบสนองกับความต้องการทางผลิตภัณฑ์ที่หายไปจากมาตรการต่าง ๆ ที่หลายประเทศใช้เพื่อการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าความต้องการการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง
บริษัทคาดการณ์แนวโน้มตลาดน้ำมันในครึ่งปีหลังว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 30-38 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้มีการคาดการณ์ถึงการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันของโลก (ณ เดือน เม.ย.63) ในปี 63 อยู่ที่ระดับ 90.5 ล้านบาร์เรล/วัน หรือลดลง 9.3 ล้านบาร์เรล/วัน จากปริมาณความต้องการใช้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งลดจากการประเมินในไตรมาสก่อนถึง 7 ล้านบาร์เรล/วัน อย่างไรก็ดีจากตลาดน้ำมันดิบในครึ่งปีหลังนี้ ยังมีความไม่แน่นอนจากการการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งอาจมีความยืดเยื้อจนส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของโลก จะเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันได้
สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม บริษัทคาดว่าราคาและส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ในครึ่งปีหลังจะได้รับปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ข้างต้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน และน้ำมันแก๊สโซลีนลดลง แต่มีแนวโน้มความต้องการจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลกับน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 11-12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ขณะที่ส่วนต่างราคาน้ำมันเตากำมะถันต่ำ (Low Sulfur Fuel Oil: LSFO) กับน้ำมันดิบดูไบครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 11-12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และความต้องใช้น้ำมันเตาเกรดกำมะถันสูง (High Sulfur Fuel Oil: HSFO) ยังคงลดลง โดยคาดการณ์ส่วนต่างราคา HSFO กับน้ำมันดิบดูไบครึ่งปีหลังอยู่ที่ -5 ถึง -4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันแก๊สโซลีนยังได้รับปัจจัยกดดันจากระดับสินค้าคงคลังที่สูงและปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการโรงกลั่นในภูมิภาคอเมริกาเหนือ คาดการณ์ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ครึ่งปีหลังอยู่ที่ 7-8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ทั้งนี้ บริษัทได้มีแผนการดำเนินการในการปรับลดการผลิตน้ำมันอากาศยานที่มีแนวโน้มอุปสงค์ที่ปรับตัวลดลงจากสถานการณ์ในปัจจุบันและผลิตน้ำมันดีเซลที่ยังมีความต้องการที่ดีอยู่ทดแทน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งผลให้คาดการณ์ในส่วนของการใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันทั้งปีของบริษัท คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตที่ 97% มีการปรับกำลังการผลิตลดลงเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ไวรัสข้างต้น
สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสในด้านราคาผลิตภัณฑ์เท่านั้น ทางด้านการผลิตยังคงเป็นไปตามแผน แนวโน้มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์คาดว่าส่วนต่างของผลิตภัณฑ์พาราไซลีนกับแนฟทาในครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 270-290 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครึ่งปีแรก ซึ่งแม้ว่าจะมีอุปทานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรายใหม่ แต่อุปสงค์จากภาคอุตสาหกรรมปลายน้ำ เส้นใยและสิ่งทอ (Fiber Filament) กรดเทเรฟทาริคบริสุทธิ์ (PTA) โดยเฉพาะขวดบรรจุภัณฑ์ (PET Bottle Resin) ที่ยังคาดว่าจะมีการเติบโตที่ดี รวมถึงอุปสงค์ในการเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังเพื่อทดแทนส่วนที่หายไปในช่วงที่มีการชะลอการผลิตในช่วงครึ่งปีแรก
ด้านส่วนต่างของราคาเบนซีนและแนฟทาจะอยู่ที่ประมาณ 110-120 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทรงตัวจากครึ่งปีแรก เนื่องจากตลาดเบนซีนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกำลังการผลิตใหม่ของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เช่น สไตรีนโมโนเมอร์ และฟีนอล สำหรับในปีนี้ บริษัทมีแผนการปิดซ่อมบำรุงเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของหน่วยผลิตอะโรเมติกส์ 2 ในไตรมาสที่ 3 คาดการณ์การใช้กำลังการผลิตของปี 63 อยู่ที่ 95%
แนวโน้มของสถานการณ์ผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มทรงตัวจากครึ่งปีแรก จากการคาดการณ์ว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่ที่ในปี 63 รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ คาดว่าราคาเฉลี่ยเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) จะอยู่ราว 740-820 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในขณะที่สถานการณ์ราคา MEG คาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวจากครึ่งปีแรก ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากปริมาณอุปทานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์การใช้งานของตลาดผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยังคงเติบโตได้ บริษัทคาดว่าราคา MEG (ASP) ในครึ่งปีหลังเฉลี่ยอยู่ที่ 400-460 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ทั้งนี้ ในปี 63 คาดการณ์การใช้กำลังการผลิตของธุรกิจโอเลฟินส์จะอยู่ที่ 97% จากการปิดซ่อมบำรุงที่แล้วเสร็จไปในไตรมาสที่ 1 และคาดการณ์การใช้กำลังการผลิตของธุรกิจโพลิเมอร์จะอยู่ที่ 101%
PTTGC แจ้งผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 93,036 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาส 4/62 และลดลง 18% จากไตรมาส 1/62 โดยบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันและรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และ ผลกำไรจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง) ในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 1,128 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีผลขาดทุน 1,005 ล้านบาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 212%
โดยมี Adjusted EBITDA ในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 6,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากไตรมาส 4/62 แต่ลดลง 35% จากไตรมาส 1/62 โดยปัจจัยหลักมาจากปริมาณการขายที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจอะโรเมติกส์ รวมถึงการฟื้นตัวของส่วนต่างผลิตภัณฑ์ในธุรกิจอะโรเมติกส์
อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 1/63 ระดับราคาน้ำมันดิบได้มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงจาก 67 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ณ สิ้นปี 62 มาเป็น 23 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ณ สิ้นไตรมาส 1/63 ส่งผลให้เมื่อรวมผลกระทบอื่นจากผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันและรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (Stock Loss Net NRV) เป็นผลขาดทุน 8,906 ล้านบาท และจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องส่งผลให้บริษัทมีผลจากขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน 2,193 ล้านบาท ขณะที่มีขาดทุนสุทธิรวม 8,784 ล้านบาท หรือขาดทุน 1.96 บาท/หุ้น
การใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ส่งผลให้บริษัทมีปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น โดยโรงกลั่นน้ำมันสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังการผลิตเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนเป็นเวลา 52 วัน แม้ว่าในไตรมาสนี้จะมีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงโอเลฟินส์ 2/1 และ 2/2 เป็นเวลา 39 และ 35 วันตามลำดับ ส่งผลให้ปริมาณการขายโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลง แต่โดยรวมปริมาณการขายยังมีการปรับเพิ่มขึ้น
ในไตรมาสนี้ ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเฉลี่ยส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันและการชะลอตัวของอุปสงค์ของโลก โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเบนซิน ได้รับผลโดยตรงจากมาตรการปิดเมืองและลดการเดินทางเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่น (GRM) อยู่ที่ 3.49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากส่วนต่างผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ปรับลดลงตามการปรับลดลงของอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์หลัก
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงกลั่นได้รับการสนับสนุนจากส่วนต่างราคาของน้ำมันเตากามะถันต่ำกับน้ำมันดิบดูไบที่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับทางบริษัทสามารถลดปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยานและเปลี่ยนไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซลตามภาวะความต้องการน้ำมันอากาศยาน ซึ่งช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์มีส่วนต่างผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ (BTX P2F) สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 91 เหรียญสหรัฐ/ตันมาอยู่ที่ 163 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์พาราไซลีนกับราคาคอนเดนเสท และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เบนซีนกับราคาคอนเดนเสทที่เพิ่มขึ้น จากการปรับลดลงของราคาวัตถุดิบคอนเดนเสทตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62 ส่วนต่างผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ ลดลง 21%
ขณะที่ธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีผลประกอบการที่ลดลง โดยเป็นผลจากปริมาณการขายที่ปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาส 1/63 ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน เฉลี่ยทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ด้านส่วนต่างผลิตภัณฑ์หลักอย่าง HDPE กับแนฟทา อยู่ที่ 399 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลง 30% จากไตรมาส 1/62 แต่เพิ่มขึ้น 33% จากไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่บริษัทรับรู้จานวน 576 ล้านบาท ลดลง 38% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 51% จากไตรมาส 1/62 โดยหลักเป็นผลจากการอ่อนตัวของธุรกิจอะคริโลไนไตรล์ (AN) และธุรกิจโพลีโพรพิลีน (PP) ขณะที่ผลประกอบการในส่วนของธุรกิจไบโอพลาสติกที่บริษัทดำเนินการผ่านบริษัท Natureworks ประเทศสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 63)
Tags: PTTGC, ปิโตรเคมี, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, ราคาน้ำมัน, โรงกลั่น