การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระดมความคิดเห็นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาลู่ทางลงทุนธุรกิจใหม่ และต่อยอดการลงทุนในธุรกิจเดิม พร้อมทั้งหาช่องทางการตลาด และการบริหารจัดการความเสี่ยงโครงการลงทุน เผย 8 ประเภทธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ในการขยายการลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) “โครงการศึกษารูปแบบการลงทุนในธุรกิจใหม่ของ กนอ.และรูปแบบการลงทุนใประเทศและต่างประเทศ” ว่า จากบริบทและการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ กนอ.จำเป็นต้องปรับบทบาท และภารกิจหลัก (Core Business) ในการจัดหาที่ดินและพัฒนาเพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม และจัดให้มีบริการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ
อีกทั้งพระราชบัญญัติ กนอ.(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ได้เพิ่มบทบาทหน้าที่ในการร่วมดำเนินงาน หรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อดำเนินการ รวมถึงเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือถือหุ้นในนิติบุคคลใดๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือการดำเนินการที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของ กนอ.ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้การขยายขอบเขตการให้บริการของ กนอ.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
การรับฟังข้อคิดเห็นของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจใหม่ของ กนอ.ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดพื้นที่ของการแสดงความคิดเห็นต่อผลการศึกษา ในประเด็นของโอกาสและความเป็นไปได้ของธุรกิจที่สามารถขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมี 8 ประเภทธุรกิจที่สามารถขยายการลงทุนต่อยอดจากธุรกิจเดิม และการทำธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม (Industrial Estate & Industrial Port) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทน (Renewable Energy) การจัดการกากอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมสีเขียว (Waste & Green Management) ผู้จัดหาและให้บริการโซลูชั่นในเมือง (Urban Solution Provider) การพัฒนาทักษะแรงงานแห่งอนาคต (Future Skill) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ (Healthcare & Wellness) การบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม (Industrial Estate Management) และการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Facilities Management)
“การสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการลงทุนในธุรกิจใหม่ของ กนอ. โดยมุ่งหาแนวทางและรูปแบบใหม่ในการดำเนินธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์เศรษฐกิจโลก และความท้าทายของโลกยุค Next Normal ที่มีการเปลี่ยนแปลงชีวิตวิถีใหม่ในอนาคต ในการเผชิญกับโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบในทุกมิติ ทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความท้าทายต่างๆ ที่เกิดกับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
นายวีริศ กล่าว
สำหรับผลการศึกษา และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้ที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นส่วนประกอบสำคัญของการกำหนดแนวทางการลงทุนของ กนอ. การทำการตลาด และการบริหารจัดการความเสี่ยงของโครงการลงทุนต่อไปในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 64)
Tags: กนอ., นิคมอุตสาหกรรม, วีริศ อัมระปาล