น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แม้สถานการณ์การส่งออกของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้จะออกมาดีกว่าคาดการณ์ไว้ แต่ สรท.ยังต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 ว่าอาจหดตัว -8% บนสมมติฐานค่าเงิน 30.50 บาท/ดอลลาร์ (บวก/ลบ 0.50 บาท/ดอลลาร์) โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
โดยมีปัจจัยบวกจาก 1.การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์สำหรับบางสถานประกอบการ ทำให้ธุรกิจสามารถเริ่มกลับมาประกอบการและทำการผลิตได้ตามปกติ และ 2.สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป เวชภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และทองคำ ได้รับอานิสงค์ต่อเนื่องจากผลการแพร่ระบาดโควิด-19 จากนโยบายล็อกดาวน์/ทำงานที่บ้าน ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารแปรรูปและผัก ผลไม้จากไทย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงทองคำที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 63
ขณะที่มีปัจจัยลบมาจาก 1.สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจหดตัว 2.สถานการณ์แพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งสินค้า 3.เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่า และ 4.ราคาน้ำมันผันผวนรุนแรง
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่
1.ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ
- ด้านเศรษฐกิจ และการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ 1) ฟื้นฟูด้านการเงินผ่านเงินกู้เพื่อ SMEs และผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดใหญ่ พร้อมทั้งรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ระหว่าง 32.50-34.00 บาท/ดอลลาร์ 2) มุ่งยกระดับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นครัวโลก และส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกร 3) ยกระดับอุตสาหกรรม Healthcare เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและอุตสาหกรรมในยุค New Normal 4) ฟื้นฟูด้านแรงงานให้มีงานและอาชีพ ตลอดจน Re-skill และ Up-skill ให้มีทักษะที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมใหม่ และ 5) มาตรการด้านอื่น อาทิ จัดทำแผนฉุกเฉิน (Business Continuity Plan: BCP) หรือแผนสำรอง (Backup plan) ระดับประเทศ เร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และลดขั้นตอน เงื่อนไข การขอใบอนุญาตและกฎระเบียบหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
2.ข้อเสนอแนะด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย
- ด้านการขนส่งสินค้าทางทะเล อาทิ 1) ลดอัตราค่าภาระของการขนส่งทางเรือชายฝั่ง 2) เพิ่มทางเลือกของการขนส่งสินค้าจากภาคใต้ของไทย เช่น (1) พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพท่าเรือสงขลา 1 ในเรื่องความลึกร่องน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ภายในท่า ระบบคมนาคมเชื่อมโยงเข้าสู่ท่าเรือเพื่อให้สามารถรองรับสินค้าได้เพิ่มขึ้น (2) เร่งรัดโครงการท่าเรือสงขลา 2 (3) สนับสนุนการส่งออกโดยใช้บริการท่าเรือทางฝั่งอันดามัน เช่น ท่าเรือกันตัง (4) ศึกษาความเป็นไปได้ของการขนส่งสินค้าทางทะเลจากภาคใต้ในรูปแบบอื่น เช่น การใช้ Ship Lightering ในกรณีที่ท่าเรือมีความแออัด หรือไม่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่เข้าเทียบท่า 3) สนับสนุนให้เกษตรกร/ผู้ผลิต/ผู้ส่งออก/ผู้นำเข้ามีการทำ Forecasting สำหรับพยากรณ์ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าล่วงหน้า และหารือกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อวางแผนการจัดการตู้สินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ภายใต้ค่าระวางที่เหมาะสม โดยเฉพาะรองรับสถานการณ์ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในช่วง Q3-4/2563 ซึ่งประเทศคู่ค้าจำนวนมากจะเริ่มมีความต้องการสินค้ากลับขึ้นมาอีกครั้ง และ 4) ปรับปรุงและยกระดับการทำงานภายในท่าเรือให้เป็น Paperless และใช้อุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าที่เป็น Automation
- ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ อาทิ 1) เพิ่มปริมาณระวางขนส่งสินค้าทางอากาศ 2) ขอให้บริษัท การบินไทยจำกัด มหาชน จัดตั้งหน่วยธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศโดยใช้เครื่องบินบรรทุกสินค้า 3) สนับสนุนให้เกษตรกร/ผู้ผลิต/ผู้ส่งออก/ผู้นำเข้ามีการทำ Forecasting สำหรับพยากรณ์ความต้องการระวางขนส่งสินค้าล่วงหน้า และหารือกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อวางแผนการจัดการระวางขนส่งสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ภายใต้ค่าระวางที่เหมาะสม โดยเฉพาะรองรับสถานการณ์ขาดแคลนระวางตั้งแต่ Q2/2563 เป็นต้นมา ซึ่งประเทศคู่ค้าจำนวนมากเริ่มมีความต้องการสินค้ากลับขึ้นมาอีกครั้ง แต่อุตสาหกรรมการบินยังคงซบเซาจากการประกาศห้ามเดินทางของเที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศ และ 4) เตรียมความพร้อมการให้บริการในท่าอากาศยาน ในเรื่อง บุคลากร / พื้นที่ให้กับผู้มาติดต่อขอรับเอกสาร / อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า และ ปรับปรุงและยกระดับการทำงานในท่าอากาศยานให้เป็น Paperless
- ด้านการขนส่งสินค้าทางถนน อาทิ 1) เร่งรัดเจรจาเปิดเส้นทางการขนส่งใน GMS CBTA ให้ครอบคลุมเส้นทาง R8, R12 และ Customs Check Points ในเส้นทางดังกล่าว 2) ยกระดับข้อบังคับการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งทั้งในส่วนของรถบรรทุกรับจ้างสาธารณะ และรถบรรทุกส่วนบุคคล (รถโรงงาน/รถใช้ในกิจการ) อาทิ (1) แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยด้านชีวอนามัยสำหรับพนักงานและรถขนส่ง (2) การจัดการเอกสารและหลักฐานประกอบการขนส่ง และ 3) เร่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดและอุปสรรค ให้สอดคล้องกับรูปแบบการขนส่งในปัจจุบัน อาทิ แก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 19 และ 20 โดยกำหนดความสูงของรถบรรทุก
ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท.กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเกิดจากการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไปตามความพร้อมของแต่ละประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตที่ไม่สามารถพึ่งพากันได้ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสวงหาทางเลือกใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง
ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 100 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัว -5% ถึง -8% โดยประเมินว่าหากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คลี่คลายในเดือน เม.ย.63 แล้วเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวได้หลังมีการยกเลิกล็อกดาวน์จะทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้หดตัว -5% แต่ขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดยังไม่คลี่คลายก็อาจทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้หดตัวได้ถึง -8%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 63)
Tags: EXIM BANK, กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์, ขนส่งสินค้า, วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา, ส่งออก, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย, สรท., สิทธิกร ดิเรกสุนทร, โลจิสติกส์