ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าผันผวน จากแรงขายหุ้นเทคโนฯ-จับตาศก.หลังแบงก์ชาติแถลงนโยบาย

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าผันผวนตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐ โดยนักลงทุนได้เทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและตลาดเงิน หลังจากที่เฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) แถลงมติเกี่ยวกับนโยบายการเงิน

  • ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 28,799.60 จุด ลดลง 266.72 จุด หรือ -0.92% และ
  • ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 23,175.19 จุด ลดลง 300.31 จุด หรือ -1.28%

นักลงทุนซึมซับข้อมูลหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.2565 โดยการปรับลดวงเงิน QE ของเฟดจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำ QE ในเดือนมี.ค.2565

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% โดยธนาคารจะซื้อพันธบัตรวงเงิน 4 หมื่นล้านยูโร/เดือนภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) ในไตรมาส 2 ของปี 2565 และลดวงเงินสู่ระดับ 3 หมื่นล้านยูโรในไตรมาส 3

ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติ 8-1 เสียงในการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งสร้างความประหลาดใจต่อตลาดการเงิน นอกจากนี้ BoE มีมติ 9-0 เสียง สนับสนุนการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในวงเงิน 8.75 แสนล้านปอนด์ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับความเคลื่อนไหวในภูมิภาค ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ในการประชุมวันนี้ ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0% โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชนและภาคครัวเรือน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 64)

Tags: ,
Back to Top