KBANK รุกขยายตลาดตปท. ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้-ขยายฐานลูกค้าดิจิทัล

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า แม้จะอยู่ภายใต้ภาวะวิกฤตจากโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไปทั่วโลก แต่ธนาคารกสิกรไทยยังสามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาคได้อย่างก้าวกระโดด โดยในปี 64 เติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 34% ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 66 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมด (Net Total Income-NTI) หรือมีรายได้เติบโตถึง 5 เท่า พร้อมขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.6 ล้านราย และเพิ่มเป็น 10 ล้านรายภายในปี 67

โดยการเติบโตครั้งนี้เปรียบเสมือน “METAMORPHOSIS” หรือการเติบโตผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างรวดเร็วตามเป้าธุรกิจที่ท้าทาย ภายใต้ 3 วิสัยทัศน์หลักแบบไร้ขีดจำกัด (Limitless) ไร้รอยต่อ (Seamless) และไร้ขอบเขต (Borderless) โดยที่ธนาคารกสิกรไทยจะไม่ติดกรอบอยู่แค่การทำธุรกิจในประเทศไทย การเติบโตของธนาคารสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกภูมิภาคอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจาก KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP (KBTG) ทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรทั้งการลงทุน ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆได้อย่างไร้รอยต่อ ที่จะเข้ามาเพิ่มศักยภาพ (Capabilities) ทุกๆด้านของคนกสิกรไทยที่จะต้องเติบโตได้อย่างไร้ขอบเขต

สำหรับ World Business Group (WBG) ได้สร้างการเปลี่ยนสู่ธุรกิจธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค ด้วยการเดินหน้าธุรกิจตามโมเดล Kasikorn China ที่ดำเนินธุรกิจบนปรัชญา “Better Me” ที่มุ่งให้การสนับสนุนลูกค้าที่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนและมุ่งมั่นนำพาตัวเองสู่อิสรภาพทางการเงิน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ESG Bank ที่สร้างโอกาสการเข้าถึงทางการเงินให้กับลูกค้า

ธนาคารจะนำแนวคิดธุรกิจนี้ขยายไปยังเวียดนาม ที่ได้เดินหน้าด้วยดิจิทัล แบงกิ้ง อย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่ KBank Loan สินเชื่อดิจิทัลที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการขออนุมัติวงเงิน และ K PLUS Vietnam โมบาย แบงกิ้งที่ต่อยอดจากต้นแบบ K PLUS ในประเทศไทย และในอนาคตจะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่บนโมเดล Banking-as-a Service (BaaS) ในการให้บริการมากกว่าธุรกิจการเงินที่จะเริ่มที่เวียดนามเป็นแห่งแรก เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่มากกว่าในการเข้าถึงและบริการทางการเงิน ช่วยให้ฟินเทครายย่อยมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

ในกัมพูชาธนาคารพร้อมเปิดตัว Payroll Lending ที่ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่ออย่างง่ายดายผ่านแอปพลิเคชันของพันธมิตร ส่วนในฝั่งสปป.ลาว จะยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบริการ QR KBank จากปัจจุบันที่มี 1.3 แสนรายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทุกธุรกรรมการเงินของลูกค้า ในขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่จะช่วยยกระดับธุรกิจให้กับลูกค้าผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศนี้ให้เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจของประเทศอื่นๆในภูมิภาคอีกด้วย

จากเป้าหมายและพันธกิจที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ WBG ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 1,037 คนในปี 65 หรือเพิ่มขึ้นถึง 52% จากปี 63 เพื่อขยายศักยภาพของทีมให้ไปสู่ความสำเร็จได้ และด้วยความตั้งใจที่จะเป็นองค์กรสำหรับ Talent ทั่วโลก ซึ่งธนาคารได้เสนอแนวคิด “World of Borderless Growth” เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสในการเติบโตอย่างไร้ขอบเขตทุกมิติ ทั้ง Personal Growth การเติบโตผ่านประสบการณ์ทำงานจริงที่ท้าทาย Growth of Team การเติบโตร่วมกับทีมที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน Growth of Partners การเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรทั้ง Tech Company และ Startup ระดับโลก และ Growth of Community การเติบโตเคียงข้างกับสังคมผ่านทุกภารกิจ (Mission) ของ WBG ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

ด้านเป้าหมายถัดไปของธนาคารกสิกรไทย คือ การเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค โดยปัจจุบันธนาคารได้เร่งสร้างพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจและส่งมอบบริการทางการเงินให้กับลูกค้าในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีแผนในการจัดตั้งบริษัท K VISION FINANCIAL (KVF) เพื่อขยายการลงทุนด้านดิจิทัลในธุรกิจต่าง ๆ ด้วยเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มจำนวนพันธมิตรทางธุรกิจ สู่การเป็น Ecosystem ทางการเงินในระดับภูมิภาค พร้อมชูแผนการสร้างบริการทางการเงินเพื่อรองรับตลาด Digital Asset ที่จะเติบโตในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและกระแสการมุ่งสู่ความยั่งยืน ส่งผลให้ภูมิทัศน์ของโลกหลังโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อนและท้าทาย แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจที่ไร้ขีดจำกัด สำหรับธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้เร็ว (Morph) และเปิดรับทักษะสมัยใหม่ ได้แก่

DECOUPLING เป็นโอกาสที่อาเซียนจะสามารถเชื่อมต่อกับสองห่วงโซ่ คือ จีนและสหรัฐฯ จากการเปิดกว้างต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับทั้งสองขั้วอำนาจ

REGIONALIZATION 2.0 จีนผันตัวเองจากแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกไปเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกสินค้าไฮเทคและนวัตกรรม ขณะเดียวกันธุรกิจของจีนจะทยอยย้ายฐานการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลางจำนวนมาก

NEXT-GEN DIGITALIZATION Digital technology ช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถของ SMEs อีกทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

DECARBONIZATION กระแสการมุ่งสู่สังคมที่ไร้คาร์บอนของนานาประเทศ โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่ท้าทาย นับเป็นโอกาสทางธุรกิจในการสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนบนเส้นทางการเติบโตยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG (Group Chairman – KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP) กล่าวว่า ประเทศจีนมีประชากรมากถึง 1,412 ล้านคน และมีการใช้โทรศัพท์มือถือ (Mobile Penetration) สูงมาก ส่งผลให้ Fintech Landscape ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในปี 63 ที่ผ่านมา KBTG ได้มีการจัดตั้ง บริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited) ที่เซินเจิ้น มีภารกิจหลัก คือ การหาบุคลากรจีนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมาร่วมทีมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร พร้อมทั้งต่อยอดโอกาสทางธุรกิจจากฟินเทคในจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไปสู่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

ความสำเร็จในก้าวปีแรกของ KBTG คือ การมีส่วนร่วมใน 14 โครงการสำคัญ ครอบคลุมในทุกประสบการณ์ทางการเงินทั้งด้านการปล่อยกู้ เงินฝาก การชำระเงิน รวมทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์กับ 7 พันธมิตรสำคัญในประเทศจีน และมีแผนเพิ่มทีมงานให้ใหญ่ขึ้นถึง 12 เท่า ภายในปี 69

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top