บรรดานักการทูตได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ไม่น่าจะอนุญาตให้กลุ่มตาลีบันของอัฟกานิสถานหรือรัฐบาลทหารของเมียนมาเป็นตัวแทนประเทศบนเวที UN ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 193 ประเทศ
ทั้งนี้ การยอมรับกลุ่มตาลีบันหรือรัฐบาลทหารเมียนมาของ UN จะถือได้ว่าเป็นพัฒนาการสำคัญต่อการเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลกตามที่ทั้งสองกลุ่มนี้วาดหวังไว้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คณะกรรมาธิการสารตราตั้งของ UN ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจาก 9 ประเทศ รวมถึงรัสเซีย จีน และสหรัฐ จะจัดการประชุมร่วมกันที่สำนักงานใหญ่ UN เพื่อพิจารณาสารตั้งทูตของสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศสำหรับการประชุมสมัยปัจจุบันของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN ได้ระบุว่า ความปรารถนาที่จะเป็นที่ยอมรับในระดับสากลของกลุ่มตาลีบันนั้น เป็นเครื่องมือต่อรองเพียงชิ้นเดียวที่ประเทศอื่น ๆ สามารถใช้เรียกร้องให้มีการตั้งรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลและเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสำหรับสตรีในอัฟกานิสถาน
นายซูฮาอิล ชาฮีน ซึ่งเป็นบุคคลที่กลุ่มตาลีบันเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอัฟกานิสถานประจำ UN ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “เรามีคุณสมบัติเหมาะสมต่อตำแหน่งผู้แทนอัฟกานิสถานประจำ UN และเราคาดหวังว่าข้อกำหนดทางกฎหมายจะอยู่เหนือความพึงพอใจทางการเมือง”
ด้านรัฐบาลทหารของเมียนมาซึ่งก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางออง ซาน ซูจีในเดือนก.พ. ได้ผลักดันให้นายอ่อง ตูเรน อดีตนายทหารเมียนมาขึ้นเป็นเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำ UN
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ธ.ค. 64)
Tags: UN, ซูฮาอิล ชาฮีน, ตาลีบัน, ทหาร, สมัชชาสหประชาชาติ, อันโตนิโอ กูเตอร์เรส, อัฟกานิสถาน, เมียนมา