สำนักวิจัยเห็นพ้องเงินเฟ้อไทยมีโอกาสเร่งขึ้นระยะสั้นจากปัจจัยชั่วคราว

สำนักวิจัยเห็นพ้อง ทิศทางเงินเฟ้อปี 65 มีแนวโน้มขาขึ้น สอดคล้องปัจจัยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นดันเงินเฟ้อสูงชั่วคราว รวมถึงปัจจัยเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว แต่คาดอยู่ในกรอบ 0.9-2.5% มองสถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มชะลอตัวไม่เกินกลางปีหน้า

สถาบันเงินเฟ้อปี 64เงินเฟ้อปี 65
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย1.00%1.20%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (TTB analytics)1.20%1.50%
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย1.20%1.50%
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ1.20%0.9 – 1.9%
กระทรวงพาณิชย์0.8 – 1.2%0.7 – 1.2%
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ0.8 – 1.2%1.5 – 2.5%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (TTB analytics) เปิดเผยว่า ทิศทางเงินเฟ้อของประเทศไทยในปี 65 น่าจะสูงกว่าปีก่อนๆ แต่ยังไม่ถือว่าสูงมาก โดยคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับประมาณ 1.5% สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปที่ช่วงนี้อยู่ในระดับสูงที่ 2.38% มาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 30% ส่งผลต่อราคาน้ำมันที่ใช้ในการขนส่ง และการบริโภค อย่างไรก็ตาม หากมองเพียงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) มีการเติบโตเพียง 0.2% เท่านั้น

“ราคาน้ำมันขณะนี้เข้าสู่ระดับสูงแล้ว จากปัจจัยเรื่องฤดูกาลที่หลายประเทศเข้าสู่ฤดูหนาว โดยหากราคาน้ำมันยังคงตัวอยู่ที่ระดับ 75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เงินเฟ้อคงไม่ขึ้นไปสูงกว่านี้มาก ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือการส่งผ่านของปัจจัยราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน เช่น ราคาน้ำมันดีเซล ราคาขนส่ง ที่จะส่งผ่านไปยังราคาบริโภค ค่าเช่า”

นายนริศ กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นนั้น เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ปัจจุบันจึงเริ่มเห็นความร่วมมือระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีการพูดคุยกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เรื่องความกังวลต่อราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกได้ ในขณะเดียวกัน มองว่าปีหน้าห่วงโซอุปทานน่าจะปรับตัวดีขึ้น และการสต็อกสินค้าน่าจะทรงตัว ทำให้ไม่เกิด Pent Up Demand หรือผู้บริโภคมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนกับปีนี้

ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันต่างประเทศปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อจะเป็นประเด็นกดดันเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีกว่าไทย จะเห็นปัญหาเงินเฟ้อที่ชัดเจนกว่า เนื่องจากปัจจัยเงินเฟ้อของประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก ไม่ได้มาจากการบริโภคในประเทศ ดังนั้น อุปสงค์ในประเทศจึงไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี การที่ทั่วโลกเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศนำเข้านำมันดิบกว่า 10% ทำให้ยอดนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบทางตรง คือ ราคาพลังงานในประเทศปรับขึ้น ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือ การที่เงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น ธนาคารกลางต่างประเทศ ก็ต้องปรับนโยบายทางการเงินใหม่ให้ตึงตัวมากขึ้น ทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือการลดปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ลดลง ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกสูงขึ้นอีก จึงอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยไทยสูงขึ้นไปด้วย ในขณะที่นโยบายดอกเบี้ยไทยยังไม่สามารถปรับขึ้นได้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเติบโตในระดับต่ำ

ส่วนภาพรวมเงินเฟ้อปีนี้ ยังอยู่ในระดับต่ำที่ระดับ 1.2% สูงขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกที่ไทยยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก

ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เงินเฟ้อปี 65 มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัวและมีการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.5-2.5% ซึ่งภาพรวมของเศรษฐกิจจะเห็นอุปสงค์เพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ดี กรณีของประเทศไทยจะไม่ปรับตัวขึ้นสูงมาก แต่หากสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ อาจสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ ในขณะเดียวกัน ไทยจะมีปัญหาด้านอุปทาน ต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน

ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เป็นขาขึ้นนี้จะชะลอตัวลงไม่เกินกลางปีหน้า เนื่องจากมองว่าผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันจะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น เมื่อเห็นสัญญาณฟื้นของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจน โดยขณะนี้ได้มีการรักษาการผลิตให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการขยายตัวของอุปสงค์ของน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมาเรียกร้องหลายประเทศทั้ง จีน และญี่ปุ่น ให้ปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันออกมาใช้ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อโลกจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากระบบเศรษฐกิจไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด ประกอบกับมีระดับการเปิดประเทศค่อนข้างสูง และเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีจุดแข็ง คือเป็นประเทศส่งออกอาหาร ดังนั้นราคาอาหารในประเทศจะไม่สูงขึ้น แต่ขณะนี้มีราคาสูงบ้าง เนื่องจากไทยประสบปัญหาน้ำท่วม ส่งผลให้อุปทานของผัก และเนื้อสัตว์สูงขึ้นมาเล็กน้อย

สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ คือ เรื่องราคาน้ำมัน และการอ่อนค่าของเงินบาทที่เร็วเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อ ทั้งนี้ มองว่าเงินบาทปีหน้ามีทิศทางแข็งค่า เพราะไทยน่าจะกลับมาเกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด

ด้านภาพรวมเงินเฟ้อปี 64 น่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย และยังไม่มีปัจจัยน่ากังวล ทั้งนี้ เงินเฟ้อในปีนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 65 จะอยู่ที่ประมาณ 1.2% โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ ราคาพลังงาน และการปรับขึ้นราคาของสินค้า อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เนื่องจากในประเทศมีการควบคุมราคาพลังงานที่มีความสำคัญในเศรษฐกิจ เช่น ราคาก๊าซหุงต้ม และราคาน้ำมันดีเซล ที่มีการตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาท ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคอยพยุงราคา เงินเฟ้อของไทยอาจปรับตัวสูงกว่านี้

อีกปัจจัยของเงินเฟ้อ คือ อุปสงค์ของสินค้าทั่วไป โดยในต่างประเทศจะเห็นได้ชัด เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เร็ว ประกอบกับผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศไทย หลุดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ช้ากว่าต่างประเทศ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยยังไม่สูงมากนัก

“เงินเฟ้อในระดับ 1.0-1.2% ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาพอสมควร เมื่อเทียบกับเมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการรายงานว่าเงินเฟ้อของประเทศไทยต่ำมาก และเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่อยู่ที่ระดับ 4-5% ไทยยังถือว่าไกลกว่าระดับนั้นมาก”

นายพชรพจน์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ คาดว่าอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะยังอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และหลังจากนี้อาจลดลงไปบ้าง แต่ค่าเฉลี่ยโดยรวมของทั้งปีจะยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ประมาณ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดังนั้น ราคาน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จึงอาจทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นในระยะสั้น ส่งผลให้ราคาค่าขนส่งยังอยู่ในระดับสูง และทำให้ราคาสินค้าและบริการยังไม่ปรับราคาลงมากนัก

อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อในต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ผู้บริโภคต้องการสินค้ามากขึ้น เช่น ในประเทศจีนผลิตสินค้าไม่ทัน เนื่องจากมีนโยบายการลดใช้พลังงานถ่านหิน ประกอบกับการขนส่งสินค้าผ่านทางเรือช้าลง ด้านประเทศไทยที่ภาพรวมเงินเฟ้อไม่สูงมากนัก ประชาชนทั่วๆ ไปอาจไม่รับรู้ถึงผลกระทบมากนัก แต่จะกระทบต้นทุนในส่วนของผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม และผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเหล็ก และอิเล็กทรอนิกส์อาจมีราคาแพงขึ้น หรือหาผู้ผลิตได้ยากขึ้น จากการแข่งขันกับอุปสงค์ของต่างประเทศ

“ต้องจับตาสถานการณ์ของราคาพลังงาน โดยนักวิเคราะห์ต่างประเทศก็มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบของปีหน้าอาจจะขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อในภาพรวมปรับขึ้นได้ ถึงแม้ราคาดีเซลยังตรึงอยู่เท่าเดิม แต่ราคาสินค้านำเข้า และค่าขนส่งจะแพงขึ้น (Cost Push) ดังนั้น เงินเฟ้อในประเทศจึงจะปรับตัวขึ้นไปตามลำดับ”

นายพชรพจน์ กล่าว

ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ นักวิเคราะห์มองว่าจะมีการฟื้นตัวที่ช้า แต่หากหลังจากเปิดประเทศ ในช่วงไตรมาส 1/65 ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย และมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมามากขึ้น ประเทศไทยอาจมีอุปสงค์มากขึ้น จนเกิดอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ อย่างไรก็ดี ถือว่าเป็นเงินเฟ้อที่มาพร้อมปัจจัยดี

ส่วนภาพรวมเงินเฟ้อของปี 64 ยังไม่มีปัจจัยที่น่ากังวล และมีผลกระทบในบางส่วนเท่านั้น โดยค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 1.0% ซึ่งถือเป็นขอบล่างของนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย หรืออยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top