ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์ว่า จากการตรววจรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์โควิดโอไมครอน พบว่ามีความแตกต่างจากเชื้อโควิดสายพันธุ์เดิม เมื่อวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายครั้ง บ่งชี้ว่ามีการกลายพันธุ์ไปพอสมควร ส่งผลให้ชุดตรวจ RT-PCR อาจตรวจจับบางส่วนของจีโนมไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ประเทศแอฟริกา กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบไวรัสในห้องปฎิบัติการ เพื่อทดสอบกับแอนติบอดี้ โดยคาดว่าข้อมูลจะออกมาใน 1-2 อาทิตย์นี้
สำหรับการตรวจแบบ RT-PCR เป็นการตรวจหาจีโนมหลายตำแหน่ง เมื่อมีจีโนมตัวไหนขาดหายไป จะสามารถระบุผลได้ว่าติดเชื้อ หรือผลตรวจเป็นบวก อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตือนว่าในกรณีของสายพันธุ์โควิดโอไมครอน จะตรวจหาเชื้อได้ลำบาก หรือตรวจไม่พบในบางตำแหน่ง จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น โดย WHO ระบุว่าเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีชุดตรวจจำเพาะ หากตรวจ RT-PCR แล้วเจอ 2-3 ตำแหน่ง ให้พึงระวังว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอน
ทั้งนี้ การตรวจด้วยชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ยังสามารถหาเชื้อโควิด-19 ได้ แต่มีความไวน้อยกว่าการตรวจแบบ RT-PCR จึงคาดว่าการตรวจคัดกรองสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อาจกลับมาใช้การตรวจแบบ RT-PCR เหมือนเดิม
“การตรวจจีโนม คือการตรวจพันธุกรรมของไวรัส โดยการตรวจ RT-PCR เป็นการตรวจหาว่ามีเชื้อโควิด-19 หรือไม่ แต่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้ หากอยากรู้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหนต้องไปถอดรหัสพันธุ์กรรม 30,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ การตรวจ RT-PCR ยังสามารถตรวจหาโควิดโอไมครอนได้ แต่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากอาจตรวจบางตำแหน่งไม่เจอ ซึ่งตำแหน่งนั้นจะสร้างหนาม หรือมีกลายพันธุ์ไป” หัวหน้าศูนย์จีโนม กล่าว
สำหรับการฉีดวัคซีนในประเทศไทยอาจได้เปรียบ เนื่องจากมีการฉีดแบบไขว้ โดยวัคซีนแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน เช่น วัคซีนเชื้อตายจะใช้เชื้อทั้งตัวหลอกล่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ส่วนวัคซีนชนิด mRNA ใช้หนามหลอกล่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีหนามหรือไม่ ดังนั้น การฉีดวัคซีนแบบไขว้ของประเทศไทยอาจสามารถป้องกันได้มากกว่า
ส่วนการรักษาเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน โรงพยาบาลในประเทศแอฟริกา พบว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ติดเชื้อที่อาการหนักถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล โดยมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ซึ่งยังสามารถใช้ยาที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันได้ อย่างไรก็ดี WHO ระบุว่า อย่างเพิ่งวางใจ เพราะขณะนี้โควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีตัวอย่างการติดเชื้อเฉพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้น ต้องรอดูอาการติดเชื้อในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวว่าจะมีความรุนแรงหรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 64)
Tags: COVID-19, Omicron, มหาวิทยาลัยมหิดล, วสันต์ จันทราทิตย์, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์โอไมครอน, โควิดสายพันธุ์ใหม่, โรงพยาบาลรามาธิบดี