ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า การปรากฏตัวของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน (Omicron) หรือ “B.1.1.529” สร้างความกังวลให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากไวรัสตัวใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ถึง 32 ครั้งในโปรตีนส่วนหนาม ซึ่งอาจส่งผลให้เชื้อสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แพร่กระจายได้เร็วกว่าและเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนหรือยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่า ไม่ว่าเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 จะกลายพันธุ์กี่ครั้ง หรือตัวล่าสุดนี้จะทำให้เกิดการระบาดรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ สิ่งที่ยังคงต้องดำเนินการต่อไป คือการกระจายวัคซีนทั้งปฐมภูมิและกระตุ้นภูมิให้ครอบคลุมและรวดเร็ว เพื่อให้ทุกคนมีระดับภูมิคุ้มกันในตัวที่พอดี ทั่วทั้งประเทศและทั่วทุกประเทศ มิฉะนั้น เชื้อไวรัสก็จะสามารถแอบไปกลายพันธุ์ในกลุ่มประชากรที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไป
ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโอไมครอน 107 รายใน 4 ประเทศ โดยพบที่ประเทศแอฟริกาใต้ 100 ราย บอตสวานา 4 ราย ฮ่องกง 2 ราย และอิสราเอล 1 ราย มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้องค์การอนามัยโลก เพิ่มเชื้อโอไมครอนเป็นเชื้อตัวที่ 5 ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวลเทียบเท่าอัลฟา แกมมา เดลตา และเบตา เนื่องจากลักษณะการกลายพันธุ์ที่น่ากลัวแบบนี้ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ในโปรตีนส่วนหนาม
นายทอม พีค็อก (Tom Peacock) นักไวรัสวิทยาแห่งอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า เชื้อตัวนี้มีการกลายพันธุ์ของโปรตีนส่วนหนามมากอย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งกว่านั้น ยังมีการกลายพันธุ์ที่เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ตัดทะลวงเข้าเซลล์เพื่อทำให้ติดเชื้อ (Furin Cleavage Site) ถึง 2 จุด คือจุด P681H แบบที่พบในสายพันธุ์อัลฟา มิว แกมมาและ B.1.1.318 และจุด N679K เหมือน C.1.2 ไวรัสกลายพันธุ์ในแอฟริกา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พบการกลายพันธุ์ 2 จุดในเชื้อตัวเดียว สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในตอนนี้ คือเชื้อตัวใหม่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง หรือจะเป็นแค่คลัสเตอร์ในวงจำกัด
นายระวี คุปตะ (Ravi Gupta) นักจุลชีววิทยาทางคลินิก แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์พบว่า การกลายพันธุ์ที่พบในเชื้อ B.1.1.529 ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้นและหลบหลีกแอนติบอดีได้ดียิ่งขึ้น และสิ่งที่น่ากังวลก็คือ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าไวรัสที่พบใหม่นี้จะติดเชื้อได้ง่ายขนาดไหน หรือแบบเดียวกับเดลตาหรือเปล่า
นายฟรังซัวส์ บัลยูซ์ (Francois Balloux) ผู้อำนวยการแห่งศูนย์พันธุศาสตร์ UCL กล่าวว่า เชื้อตัวนี้อาจจะเกิดการกลายพันธุ์ซ้ำซ้อนระหว่างการติดเชื้อเรื้อรังในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเอชไอวีที่ไม่ได้รับการรักษา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 64)
Tags: COVID-19, Omicron, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์โอไมครอน, โอไมครอน