วิปรัฐบาล คาดพร้อมยื่นร่างกม.ลูกประกอบรธน.ต่อประธานรัฐสภาภายใน ธ.ค.

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.พรรคการเมืองในส่วนของวิปรัฐบาลว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าควรเสนอเป็นร่างเดียวกันเพื่อความเป็นเอกภาพ เนื่องจากเป็นกฎหมายหลักประกอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเสนอเข้าสู่รัฐสภาเพื่อให้ที่ประชุมร่วมได้พิจารณา โดยต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้

นายชิณวรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้วิปรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อเตรียมการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในส่วนของวิปรัฐบาลแล้ว โดยกำหนดกรอบสำคัญคือเร่งรัดทำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ เน้นประเด็นสำคัญในเรื่องของการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จากนั้นให้เสนอเข้าสู่การประชุมวิปรัฐบาลให้เร็วที่สุด คาดว่าภายในเดือนธันวาคม จะเสนอต่อประธานรัฐสภาได้ต่อไป

ส่วนร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ที่จะเสนอโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น ขณะนี้ทราบว่า กกต.ทำเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 17 ประเด็น และอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการและประชาชน

นายชินวรณ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ใช้ระบบบัตร 2 ใบ จะมีส่วนช่วยให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง และลดการซื้อเสียงได้ และช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะจะสามารถเลือกลงคะแนนได้ทั้งในส่วนของส.ส. และพรรคการเมือง ทั้งนี้ จะเสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้งที่มีหมายเลขเดียวกัน ทั้งบัตรเลือกตั้งส.ส. และบัตรเลือกตั้งพรรคการเมือง (ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ)

พร้อมมองว่า การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบนี้ จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ขึ้นและเข้มแข็งขึ้น แต่พรรคเล็กอาจมีข้อจำกัดในการคิดสัดส่วนโดยตรง คือคิดสัดส่วนโดยตรงกับจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยนำเปอร์เซนต์มาใช้ในการคิดคำนวณ ถ้าพรรคไหนได้คะแนน 60% ก็ได้ ส.ส. 60 คนเป็นต้น แต่ถ้ามีเศษ ก็นับจากคะแนนของพรรคที่มีเศษสูงก็จะได้ ส.ส. 1 คน ข้อดีคือไม่มีระบบบัตรเขย่ง กับ ส.ส.ปัดเศษ

“ต้องยอมรับความจริงว่า ต้องเขียนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และในกรณีที่เป็นบัตรหมายเลขเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนลงคะแนนได้ง่ายขึ้น เบอร์พรรค และเบอร์ ส.ส.เขตเป็นเบอร์เดียวกัน” นายชินวรณ์ระบุ

ส่วนกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ในประเด็นของไพรมารีโหวต ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 นั้น ก็มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งก็คงต้องมาพิจารณาในร่างกฎหมายว่าจะทำอย่างไรให้ได้ ส.ส.ที่มาจากสาขาพรรคเสนอก่อน แล้วจึงส่งรายชื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณากลั่นกรอง ก่อนจะเลือกมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ไม่ใช่ใกล้ถึงวันสมัครรับเลือกตั้งก็ไปหารายชื่อส.ส.มาและมาโหวตให้ได้ครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และขอย้ำว่าการทำไพรมารีโหวต ตามบทเฉพาะกาลที่ คสช. กำหนดไว้นั้น ทำไม่ได้จริงและผิดไปจากพื้นฐานที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top