TOP ลดสัดส่วนผลิตน้ำมันอากาศยานเหลือ 10% หลังดีมานด์หด, Q1 ขาดทุนสต็อก

นางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บมจ.ไทยออยล์ (TOP) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้โรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกปรับลดการกลั่นน้ำมันลง รวมถึงโรงกลั่นในไทยที่ลดการผลิตลงไปราว 20% จากกำลังการกลั่นของประเทศที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับลดลงในส่วนของน้ำมันอากาศยาน ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดบินตามมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ

สำหรับกำลังการกลั่นของโรงกลั่นในไทยที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน แบ่งเป็น การใช้ในประเทศ 8 แสนบาร์เรล/วัน ,การใช้ในภาคปิโตรเคมี 2 แสนบาร์เรล/วัน และส่งออก 2 แสนบาร์เรล/วัน แต่หลังจากความต้องการการใช้น้ำมันอากาศยานในประเทศลดลงไป 70-80% ทำให้โรงกลั่นในประเทศลดการผลิตลง ส่งผลให้การกลั่นน้ำมันสำหรับใช้ในประเทศลดลง 1 แสนบาร์เรล/วัน เหลือ 7 แสนบาร์เรล/วัน

ในส่วนของบริษัทได้ปรับลดสัดส่วนการผลิตน้ำมันอากาศยานจาก 20% เหลือ 10% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ โดยปัจจุบันโรงกลั่นของบริษัทมีกำลังการกลั่นอยู่ที่ 2.75 แสนบาร์เรล/วัน อย่างไรก็ตามบริษัทจะปรับสัดส่วนการกลั่นน้ำมันให้สอดคล้องกับภาวะความต้องการของแต่ละกลุ่มที่อยู่ในตลาด เพื่อทำให้การใช้กำลังการกลั่นของโรงกลั่นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการวางแผนควบคุมต้นทุนต่าง ๆ ให้มีต้นทุนที่ลดลง และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำโรงกลั่นที่มีการผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด (Cost leadership)

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมาอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่กว่า 20 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล จากช่วงต้นปีอยู่ที่ 30-40 เหรียสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจขุดเจาะน้ำมันในโลกที่มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯและแคนาดา ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่ากลุ่มตะวันออกกลางและรัสเซียค่อนข้างมาก

โดยการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากความต้องการใช้ที่ลดลงอย่างมาก แต่ปริมาณการผลิตปรับลดลงไม่ทันความต้องการใช้ แม้ว่าการประชุมกลุ่มผู้ค้าน้ำมัน G20 ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนจะมีการร่วมกันลดกำลังการผลิตลง 15 ล้านบาร์เรล/วันก็ตาม แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และยังมีการล็อกดาวน์ประเทศอยู่ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันหายไปมาก และคลังกักเก็บน้ำมันทั่วโลกเริ่มมีการกักเก็บในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่สัดส่วน 60-70% ซึ่งใกล้เต็มความสามารถในการกักเก็บของคลังกักเก็บน้ำมันแล้ว

อย่างไรก็ตามมองว่าหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายได้ทั่วโลก แม้จะยังไม่ทราบแน่นอนว่าเมื่อไหร่ ราคาน้ำมันมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ จากความต้องการใช้ที่กลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งมองว่าเหตุการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบระยะสั้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันหยุดชะงักไป แต่หากโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายและยืดเยื้ออกไป คาดว่าในช่วงเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้ ก็มีโอกาสที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะมีการประชุมเพื่อลดกำลังการผลิตลงอีกในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามภาวะของตลาด ทำให้ระดับราคาน้ำมันไม่ลดลงต่ำไปมากกว่าปัจจุบัน

การที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในครั้งนี้กลุ่มโรงกลั่นได้รับผลกระทบในเรื่องของการขาดทุนสต็อกน้ำมันในช่วงไตรมาส 1/63 นี้ด้วยซึ่งรวมถึงบริษัท ประกอบกับการผลิตที่ต้องปรับลดลงมาให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ แต่ในแง่ของผู้บริโภคทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม จะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตลดลงตามไปด้วย

ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงตามไปด้วย เป็นผลดีต่อกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี ก๊าซหุงต้ม และภาคครัวเรือน แต่ราคาก๊าซฯจะมีผลต่อผู้ใช้ที่เกิดขึ้นล่าช้าประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเห็นการปรับลดราคาก๊าซฯที่ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงอีก 3-5 เดือนข้างหน้า

ส่วนแผนการลงทุนของบริษัทในส่วนการลงทุนที่ดำเนินการไปแล้ว คือ โครงการพลังงานสะอาด (CFP) ยังคงดำเนินการก่อสร้างตามแผนที่วางไว้แล้วเสร็จและเดินเครื่องในไตรมาส 1/66 แต่การลงทุนใหม่ ๆ นั้นอาจจะต้องมีการกลับมาพิจารณาอีกครั้ง โดยในปัจจุบันยอมรับว่าแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัทต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะการวางแผนการผลิตที่ต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับแผนการผลิตได้ทันที เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสูงสุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top