‘สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์’ ชวนวิเคราะห์เกม อิหร่านล้างแค้นสหรัฐ สร้างความปั่นป่วนทั่วโลกหรือไม่?

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน แม้มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ความปั่นป่วนอาจเกิดขึ้นทั่วโลกจากปฏิบัติการเอาคืนของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการก่อการร้ายที่จะกลายเป็นภัยคุกคามขยายวงสู่พื้นที่อื่น ๆ ของโลก และเชื่อว่าจะมีความพยายามดึงชาติมหาอำนาจอื่นๆ เข้าร่วมเป็นคู่ความขัดแย้ง แต่โอกาสที่ทั้งสองชาติโดดร่วมวงจริงยังเป็นไปได้น้อย

มอง 3 แนวทางอิหร่านเอาคืนจากศักยภาพทางทหารด้อยกว่าสหรัฐ

ภายหลังจากเหตุการณ์สังหารนายพลกัสซิม โซเลมานี นายทหารคนสำคัญของอิหร่าน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐออกมายอมรับว่าเป็นผู้สั่งการอ้างว่าเพื่อป้องกันสงคราม ขณะที่ผู้นำอิหร่านชักธงแดงเหนือยอดสุเหร่าศักดิ์สิทธิ์และตามมาด้วยปฏิบัติการตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐในอิรัก ล่าสุด“ทรัมป์”แถลงว่าได้รับความเสียหายน้อย และสหรัฐจะไม่ใช้กำลังตอบโต้อีก แต่จะใช้การคว่ำบาตรแทน สอดคล้องกับท่าทีของอิหร่านที่ไม่ต้องการให้เกิดสงคราม

รศ.สมชาย กล่าวว่า อิหร่านต้องล้างแค้นแน่นอน แต่ศักยภาพทางการทหารของอิหร่านยังห่างไกลจากสหรัฐฯมากเกินกว่าที่จะทำให้ความขัดแย้งครั้งนี้ขยายวงไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หากย้อนมองอดีตสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เกิดขึ้นจากกรณีแผ่อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจที่ดึงหลายประเทศเข้ามาร่วมสงคราม เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดภัยคุกคามกับประเทศของตนเอง แต่ในกรณีความขัดแย้งของสหรัฐฯและอิหร่าน เชื่อว่ายังไม่รุนแรงถึงขั้นยกระดับชั้นสงครามได้เหมือนในสมัยอดีต

“นายพลกัสซิม โซเลมานี เป็นบุคคลสำคัญกับอิหร่านอย่างมาก จึงมองว่าแค้นนี้อิหร่านต้องชำระคืนสหรัฐฯแน่นอน แม้ว่าสิ่งที่สหรัฐฯจะประกาศว่ากระทำไปเพื่อป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามของอิหร่าน ไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดสงคราม ซึ่งจะเป็นข้ออ้างของสหรัฐฯหรือไม่นั้นคงตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปคือตะวันออกกลางจากเดิมที่เคยร้อนระอุอยู่แล้ว ก็จะยิ่งร้อนระอุยิ่งขึ้นไปอีก” รศ.ดร.สมชาย กล่าว

การล้างแค้นของอิหร่านที่จะมีต่อสหรัฐฯในระยะถัดไป วิเคราะห์ไว้ 3 แนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ประกอบด้วย แนวทางแรก อิหร่านน่าจะทำให้เกิดเป็นสถานการณ์สงครามตัวแทน แทนที่จะเผชิญหน้ากับสหรัฐฯโดยตรงก็ใช้กองกำลังของฝ่ายที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่านทั้งในอิรักและซีเรียเข้าโจมตีกองกำลังของสหรัฐฯที่ประจำในแต่ละพื้นที่หลายประเทศในตะวันออกกลาง

แนวทางสอง แผนโจมตีนอกพื้นที่โซนตะวันออกกลาง คาดว่าเป็นการมุ่งโจมตีกลุ่มพลเรือนและสถานฑูตต่างๆ เหมือนกับเหตุก่อการร้ายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นต้น รูปแบบกระจายการโจมตีเป็นจุดๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนสหรัฐเกิดความกลัว เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าการเหตุสังหารนายพลกัสซิม โซเลมานีเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของสหรัฐฯ

และแนวทางสาม คือการโจมตีอิหร่านของสหรัฐฯครั้งนี้ อาจจะสร้างความไม่พอใจกับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอิหร่าน ทำให้อาจมีความเสี่ยงการก่อร้ายจากคนบางกลุ่มได้เช่นกัน

ส่วนแนวทางอิหร่านขู่ประกาศปิดช่องแคบฮอร์มุซนั้น มองว่าโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากเส้นทางขนส่งน้ำมันและเดินเรือของหลายประเทศ หากดำเนินการเช่นนั้นจะทำให้อิหร่านมีคู่ขัดแย้งเพิ่มขึ้น

“ยุคอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา และ จอร์จ ดับเบิลยู.บุช ยังไม่กล้าตัดสินใจสังหารนายพลของอิหร่านคนนี้ แม้เคยระบุว่ามีความพยายามที่จะสังหาร แต่กังวลว่าสหรัฐฯจะมีภัยคุกคามมากขึ้น และไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการ แต่ในยุคของโดนัล ทรัมป์ กลับกล้าตัดสินใจ ส่วนหนึ่งน่าจะใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

เวลานี้เชื่อว่าประชาชนสหรัฐฯคงยังตอบไม่ได้ว่า โดนัล ทรัมป์ ตัดสินใจผิดหรือถูก คงต้องติดตามสถานการณ์กันในระยะเวลา 1 ปีจากนี้ไป ถ้าผลการกระทำสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนสหรัฐฯและสร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นมูลค่ามหาศาล เป็นสิ่งสะท้อนว่า โดนัล ทรัมป์ ตัดสินใจผิดพลาด

แต่ถ้าในช่วง 1 ปีสหรัฐฯสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ความเสี่ยงครั้งนี้ก็ถือว่าคุ้มค่าน่าจะเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนสหรัฐฯ ดังนั้นคงต้องมาติดตามใกล้ชิดถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดเป็นรูปธรรมอย่างไร” รศ.สมชาย กล่าว

โอกาสดึงจีน-รัสเซียร่วมวงยังมีน้อย

รศ.สมชาย วิเคราะห์ต่อว่า จีนและรัสเซีย ยังมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้ามามีบทบาทต่อความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน เพราะหากสังเกตุท่าทีของจีนและรัสเซีย แสดงท่าทีแค่คำพูดเท่านั้น เมื่อวิเคราะห์เชิงการเมืองระหว่างประเทศจะพบว่าจีนกับรัสเซียจะได้รับประโยชน์จากข้อขัดแย้งดังกล่าว โดยรัสเซียได้ประโยชน์จากการขยายแสนยานุภาพในฝั่งยูเครนเพิ่มขึ้น ขณะที่จีนเองก็จะได้รับประโยชน์จากการแผ่อิทธิพลในฝั่งทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงปลายปี 62 ทั้ง 3 ประเทศ ประกอบด้วย อิหร่าน จีน รัสเซีย เป็นพันธมิตรร่วมซ้อมรบทางทะเล อ่าวโอมาน ได้แก่ ทางเหนือของมหาสมุทรอินดีย และทะเลโอมาน เส้นทางการเดินเรือสำคัญของโลก แต่ถ้าวิเคราะห์กันเชิงลึกอาจเป็นแค่เชิงสัญลักษณ์ท่ามกลางความขัดแย้งที่มีต่อสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าโอกาสที่จะเข้าร่วมรบทางการทหารมีความเป็นไปได้น้อยมาก จึงมองว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่จะทำให้เกิดเป็นสงครามโลกน้อยมาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 63)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Tags: , , ,
Back to Top