นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในกิจกรรม KM Forum ครั้งที่ 1 สถานะและทิศทางของตลาดทุนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ในหัวข้อ “สถานะและทิศทางของตลาดทุนในอนาคต” ว่า การพัฒนาของ ตลท.ต่อจากนี้จะสู่การมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการระดมทุน ได้แก่ สนับสนุน SMEs, Startups ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน, ให้บริการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพ SMEs และ Startups หรือกระดาน Live Exchange, โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการลงทุน ได้แก่ พัฒนาระบบซื้อขายกองทุน FundConnext และเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ อาทิ Clearstream, โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุนไทย ได้แก่ พัฒนาระบบการชำระเงินสำหรับตลาดทุน, บริการแพลตฟอร์มสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล, โครงการ e-Service Platfrom ให้บริการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในรูปแบบออนไลน์ (e-AGM)
นอกจากนี้ ในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ตลท.วางกรอบการดำเนินงานไว้ 6 ด้าน ประกอบด้วย ผลักดันให้ภาคธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์มีระบบดิจิทัลตลอดกระบวนการทางธุรกิจ, ผลักดันให้ภาครัฐระดมทุนผ่าน Infrastructure Fund และทรัสต์เพื่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น, ส่งเสริมการเตรียมพร้อมเพื่อการลงทุนของ SMEs และ Startups, เชื่อมโยงตลาดทุนไทยสู่ตลาดทุนโลก, ส่งเสริมความรอบรู้ทางการเงิน และผลักดันให้ภาคประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออม, การส่งเสริมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในตลาดทุนไทย
“ทิศทางที่ตลาดหลักทรัพย์จะไป จะมีด้วยกัน 3 เรื่องหลักๆ คือ การมุ่งไปในเรื่องของดิจิทัล และ Innovation มากขึ้น, รวมถึงการส่งเสริมด้านความยั่งยืน และการเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับตลาดทุนต่างประเทศ”
นายศรพล กล่าว
ขณะที่ในแง่ของมูลค่าตลาด ยังคงขึ้นอยู่กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ การฟื้นตัวจากเหตุการณ์ต่างๆ และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งอาจจะปรับโฉมของตลาดทุนไทยในอนาคต แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าตลาดทุนไทยจะไปในทิศทางไหนในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่เชื่อมั่นว่าจะสะท้อนความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอย่างแน่นอน
ปัจจุบัน สัดส่วนตามมูลค่าตลาดในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่คิดเป็น 26% มาจากภาคบริการ รองลงมา คือ ทรัพยากร คิดเป็น 23%, อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 14%, การเงินและประกันภัย 13%, เทคโนโลยี 11%, ที่เหลือมาจากอุตสาหกรรมอาหาร และอื่นๆ
“อีก 10 ปีข้างหน้าตลาดทุนจะไปในทิศทางไหน ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องดูกันต่อไป ซึ่งสัดส่วนปัจจุบันภาคบริการ มีมาร์เก็ตแคปรวมกันที่ 26% ของทั้งหมด จะไปต่อได้ขนาดไหน โควิด-19 กระทบอย่างไร รูปแบบท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปหรือไม่ และเรื่องของการให้บริการสาธารณสุขที่เราให้บริการอย่างแข็งแกร่งจะไปต่อหรือไม่ หรือจะเห็นธุรกิจใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งหลายประเทศก็มีการพูดถึง Sector เทคโนโลยี ขณะที่ไทยเองก็เริ่มมียูนิคอร์นแล้ว เราจะไปในทิศทางทางนั้นไหม เขาจะมาระดมทุนในตลาดทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่”
นายศรพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็เริ่มเห็นสัญญาณของการเข้ามาระดมทุนของบริษัทใหม่ๆ แต่ยังเป็นขนาดที่เล็กอยู่ ซึ่งในอนาคตอาจจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ในปีนี้ก็มีบริษัทที่เป็นผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น บริษัทที่ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้าน Digital Transformation, บริษัทที่ทำโปรตีนจากจิ้งหรีด, บริษัทพลังงานทางเลือก เป็นต้น
ขณะที่เมื่อเทียบตลาดหลักทรัพย์ไทยกับตลาดอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ตลาดหลักทรัพย์ของไทยถือว่าเป็นอันดับ 1 ในแง่ของสภาพคล่องสูงสุด โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รวมถึงในแง่ของการเป็นทางเลือกในการระดมทุนของภาคธุรกิจ มีมูลค่าระดมทุน IPO สูงเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 63 และอันดับ 6 ในเอเชียในปีนี้
ด้านบริษัทจดทะเบียนไทยเองก็มีการขยายธุรกิจและการลงทุนไปในต่างประเทศค่อนข้างมาก หรือประมาณ 50% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด มีรายได้จากต่างประเทศ แบ่งเป็น 170 บริษัทมีรายได้จากลุ่ม CLMV, 223 บริษัทมีรายได้จากอาเซียน, 102 บริษัท อยู่ในเอเชียตอนเหนือ, 54 บริษัทอยู่ในยุโรป และ 60 บริษัทอยู่ในสหรัฐฯ, 18 บริษัทอยู่ในแอฟริกา ซึ่งสามารถช่วยให้นักลงทุนได้กระจายความเสี่ยงของการลงทุนได้
ด้านนายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) กล่าวว่า ตลท.เปิดโอกาสให้ SME และ Startup ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนา SME / Startup ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของในประเทศไทย โดยได้มีการพัฒนากระดานเทรดที่ 3 หรือ Live Exchange ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าภายในปลายปีนี้จะผ่านความเห็นชอบ และน่าจะได้เห็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่ 3 ของประเทศไทยในต้นปี 65 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ช่วยให้ SME และ Startup เข้ามาระดมทุน รวมถึงเข้ามาซื้อขายในตลาดได้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ และสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ผ่าน Live Platform ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ Education Platform, Scaling Platform
“เราอยากให้ SME และ Startup ที่ปัจจุบันมีอยู่ 3.1 ล้านราย เข้ามาใช้ Live Platform เพื่อให้มีองค์ความรู้และการเติบโต และในอนาคตเมื่อเติบโตก็สามารถที่จะมาเทรดใน Live Exchange ได้ รวมถึงเราอยากให้ประชาชน นักศึกษา เข้ามาใช้ประโยชน์จาก Live Platform ให้ได้มากที่สุด” นายประพันธ์ กล่าว
Live Exchange ได้มีการออกแบบให้ SME และ Startup สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ด้วยการกำหนดเกณฑ์ ในด้านสถานะ ต้องเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่ได้รับอนุญาตเสนอขายหุ้นในวงกว้างจากสำนักงาน ก.ล.ต. , มีการจัดทำรายงานทางการเงินสำหรับกิจกรรมที่ส่วนได้เสียสาธารณะ (PAE), ไม่กำหนดทุนชำระแล้ว, ผลการดำเนินงาน รายได้ SMEs ขนาดกลาง/ Startups-Post Series A และกำหนดผู้ลงทุน ได้แก่ AI, QI, PI ขณะที่การซื้อขายจะเป็นระบบ Auction วันละครั้ง
นายกิตติ สุทธิอรรถศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ตลท.เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุนเพื่อเชื่อมต่อการทำธุรกรรมดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกตลาดทุน โดยจัดตั้งบริษัท ดิจิทัล แอคเซส แพลตฟอร์ม จำกัด (DAP) และบริษัท ฟินเน็ต อินโนเวชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด (FinNet) เพื่อรองรับกระบวนการในโลกปัจจุบัน เช่น การซื้อขายกองทุนรวม การส่งคำสั่งในการชำระเงิน การเชื่อมต่อกับกรมการปกครอง และการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อีกทั้งยังได้จัดตั้งบริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด (TDX) เพื่อสร้างระบบนิเวศแบบใหม่ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
ก้าวต่อไปของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ตลท.จะพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างผู้ต้องการทุน ผู้ต้องการลงทุน หรือผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการ ในสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในส่วนของ Digital Token แบ่งออกเป็น Investment Token สิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน และ Utility Token สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ รวมถึง Cryptocurrency ในส่วนของ Payment Token
อย่างไรก็ตาม สินค้าและบริการในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ ตลท.มองเห็นจะมีหลายรูปแบบ คือ การให้เงินลงทุนเพื่อไปสร้างหนัง, point System, Token ที่เป็นเจ้าของในเพชร (Diamond Token) หรือการแสดงความเป็นเจ้าของในรูปภาพ เช่น การ Tokenization เพื่อให้หลายๆ คนมาเป็นเจ้าของในรูปภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถได้รายรับจากการเข้าชมรูปภาพ ขณะที่ในเรื่องของการเทรด จะเปิดให้เทรด 24×7 เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 64)
Tags: mai, ตลท., ตลาดหลักทรัพย์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ศรพล ตุลยะเสถียร, สินทรัพย์ดิจิทัล, เอ็ม เอ ไอ