นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด “ท่าเรือปากเมง เปิดประตูสู่อันดามัน” จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาท่าเรือ ปี 2561 – 256 เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวทางทะเลฝั่งอันดามัน7
ท่าเรือปากเมง จ.ตรัง เป็นหนึ่งในท่าเรือที่กรมเจ้าท่า ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือ เนื่องจากเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในจังหวัดตรัง โดยเรือส่วนใหญ่เป็นเรือรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากหาดปากเมงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในหมู่เกาะทะเลตรัง อาทิ เกาะมุก เกาะรอก เกาะเชือก เกาะไหง เกาะกระดาน และเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังเกาะลันตา เกาะพีพี หาดอ่าวนาง จังหวัดกระบี่
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้บริหารประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไทยเชื่อมโลก และโครงข่ายคมนาคมไร้รอยต่อ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย สุขภาพ การให้บริการต่างๆ การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างเท่าเทียม เพื่อส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ให้กับประเทศโดยรวม ตามนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ ด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ท่าเรือปากเมงเดิม มีสภาพชำรุดทรุดโทรมและขนาดท่าเรือฯไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้มาใช้บริการ สะพานท่าเรือคับแคบ ไม่มีอาคารพักคอยผู้โดยสาร ความลึกร่องน้ำไม่เพียงพอและมีสภาพค่อนข้างตื้นเขิน ท่าเรือยังไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เช่น บันไดขึ้น–ลงเรือ หลักผูกเรือและยางกันชนเรือ โครงสร้างท่าเรือชำรุดทรุดโทรม ระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยเฉพาะหน้าท่าและสะพานท่าเรือ ระบบน้ำประปา ระบบขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและระบบขนย้ายสินค้า ไม่มีพื้นที่สำหรับจอดเรือและรถยนต์ ส่งผลให้เกิดความแออัดของการจราจรทางบกในช่วงเทศกาล
กรมเจ้าท่า จึงได้มีโครงการศึกษาวางแผนและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือฯ ให้มีฟังก์ชันการใช้งานสมบูรณ์ครบถ้วน พื้นที่ท่าเรือฯสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โครงสร้างมีความมั่นคง แข็งแรง พื้นที่ด้านหน้าท่าสามารถรองรับเรือเข้าเทียบท่าได้อย่างปลอดภัย พื้นที่ด้านหลังท่าเรือฯ เพิ่มพื้นที่การใช้สอยครบถ้วนตามความต้องการของนักท่องเที่ยว การออกแบบท่าเรือเป็นสไตล์ Tropical Modern โดยการสร้างพื้นที่ให้โปร่งโล่งขนาดใหญ่ด้วยเส้นสายการออกแบบที่เรียบง่าย คำนึงถึงสภาพอากาศและภูมิประเทศเป็นปัจจัยหลัก ผสานกับบริบทสภาวะแวดล้อมธรรมชาติของเขาเมงที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลังท่าเรือปากเมง โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 144,161,000 บาท ระยะเวลาในการก่อสร้าง 630 วัน เมื่อเปิดใช้ท่าเรือฯ แล้วคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 90,000 คนต่อปี
สำหรับการก่อสร้างท่าเรือปากเมง เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาท่าเรือ ปี 2561 2567 เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ในการสนับสนุนการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันจำนวน 13 ท่า ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 5 ท่า ได้แก่ ท่าเรือสุระกุล จังหวัดพังงา ท่าเรือเกาะลันตาใหญ่ ท่าเรือสวนสาธารณะธารา ท่าเรือท่าเล จังหวัดกระบี่ รวมถึงท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง แห่งนี้ ที่พร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวทะเลฝั่งอันดามัน สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน 2564
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มีแผนพัฒนาท่าเรือเส้นทาง “วงแหวนอันดามัน” เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ ของจังหวัด กระบี่ พังงา และภูเก็ต สร้างรายได้ให้ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว เรือ ร้านอาหาร โรงแรม ตลอดจนร้านค้าชุมชน นำความเจริญสู่ท้องถิ่น และประชาชน สนับสนุนนโยบายของประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 64)
Tags: ท่าเรือปากเมง, ธนกร วังบุญคงชนะ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อานนท์ เหลืองบริบูรณ์, แผนพัฒนาท่าเรือ