SCBEIC ชี้ศก.ไทยฟื้นเร็วกว่าคาดจากอานิสงส์ในปท.-การท่องเที่ยวโลก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/64 หดตัว -0.3%YOY และ -1.1% QOQ จากผลกระทบการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาทั่วโลกรวมถึงไทยนั้น

โดยหากพิจารณาเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล พบว่าหลายภาคเศรษฐกิจหลักของไทยมีการหดตัว เริ่มจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการ ที่แม้จะยังขยายตัวได้ดีแบบเทียบรายปี แต่กลับปรับลดลงชัดเจนแบบเทียบรายไตรมาส ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากการระบาดทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงต้นไตรมาส 3

ส่วนภาคเศรษฐกิจในประเทศ พบว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเปราะบางและซบเซา ในส่วนของด้านการผลิต พบว่าภาคเกษตรขยายตัวได้ดี แต่ภาคเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และสาขาที่พักและร้านอาหาร

สำหรับในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้จากสถานการณ์การระบาดที่ดีขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และควาบคืบหน้าในการฉีดวัคซีน โดยจากข้อมูลล่าสุด พบว่าภาวะการระบาดในประเทศปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่มีเพิ่มขึ้นมาก โดยล่าสุด ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ 64.1% และผู้ได้รับวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 51.2% ของประชากร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 76-80% และ 68-72% ของประชากร ณ สิ้นปีนี้ ตามลำดับ จึงทำให้ภาครัฐมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคเป็นระยะ ๆ

โดยล่าสุด ภาครัฐได้ทำการยกเลิกเคอร์ฟิวในกรุงเทพฯ และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว รวมถึงมีการลดจำนวนจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ให้เหลือเพียง 6 จังหวัด จากเดิมที่เคยมีมากสุดถึง 29 จังหวัด ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวจากทั้งคนไทยและคนต่างชาติ นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาทิ การเพิ่มเงินโครงการคนละครึ่งเฟส 3 การให้เงินผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม และโครงการคงการจ้างงานในภาค SMEs เป็นต้น

“หากพิจารณาข้อมูลเร็วเพิ่มเติม (High Frequency data) จะเห็นได้ชัดเจนว่าดัชนีชี้วัดความเคลื่อนไหว (Mobility) ของทั้ง Google และ Facebook ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา แต่ก็ยังมีค่าติดลบ ซึ่งหมายความว่ายังต่ำกว่าระดับปกติก่อนมีโควิด-19” 

บทวิเคราะห์ระบุ

สำหรับในปี 65 นั้น EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีนี้ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ เริ่มจากการส่งออกสินค้ายังมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่จะเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากระดับนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าช่วงปกติมาก และผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกจากผลกระทบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านพลวัตการเปิดปิดกิจการที่ปรับแย่ลงตลาดแรงงานที่เปราะบาง และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตามองยังมีอยู่หลายประการ ได้แก่

  1. การระบาดของโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดประสิทธิภาพวัคซีนลง
  2. ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในวงกว้าง
  3. การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมาก ซึ่งอาจมีความรุนแรงหรือยืดเยื้อมากกว่าคาด จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  4. เศรษฐกิจจีนที่มีความเสี่ยงจากวิกฤติพลังงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ และ
  5. ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง

“แนวโน้มที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้อาจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ได้ โดยโมเมนตัมการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโลก ยังอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจปี 65 ฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าคาดได้เช่นกัน ซึ่งในระหว่างนี้ EIC กำลังทำการวิเคราะห์โดยละเอียดจากสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต และจะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้” 

บทวิเคราะห์ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top