KBANK ยกระดับ สนง.ตัวแทนเป็นสาขาโฮจิมินห์ชูดิจิทัลแบงกิ้งรุกขยายฐานลูกค้า

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า จากการที่ KBANK เปิดให้บริการแก่ลูกค้าเวียดนามผ่านสำนักงานผู้แทน 2 แห่ง ณ กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์มาตั้งแต่ปี 58 จึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจประเทศเวียดนาม ที่กำลังถูกจับตามองในฐานะศูนย์กลางการลงทุนของบริษัทชั้นนำของโลก และบริษัทจากประเทศไทย

โดยเวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้มาตรการล็อกดาวน์อาจกระทบเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ไปบ้าง แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ซึ่งนำไปสู่การส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่ถูกกระทบมากนัก จึงเป็นปัจจัยหนุนช่วยภาคเศรษฐกิจอื่นของเวียดนาม และยังมีการประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้มีแนวโน้มจะเติบโตเกิน 5% ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งเอเชียและตะวันตกเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น KBANK จึงยกระดับการให้บริการจากสำนักผู้แทนนครโฮจิมินห์ เป็นธนาคารกสิกรไทย สาขานครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นสาขาแรกในประเทศเวียดนาม และเป็นสาขาที่ 10 ในต่างประเทศ เปิดตัวสาขาอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 12 พ.ย.64 ภายใต้พันธกิจของการเป็นธนาคารระดับภูมิภาคที่ลูกค้าเลือกใช้บริการ (Regional Bank of Choice) เพื่อยกระดับศักยภาพของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล แบงกิ้งที่พัฒนาใช้ในระดับภูมิภาคของธนาคาร (Regional Digital Banking) เป็นกลยุทธ์หลักในการขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยตั้งเป้าผลประกอบการภายในปี 65 มียอดเงินฝาก 1,200 ล้านบาทและสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท พร้อมคาดในอีก 5 ปีจะสามารถสร้างฐานลูกค้าในเวียดนามได้ถึง 8 ล้านคน

พร้อมทั้งได้เฟ้นหาทีมงาน ขยายกำลังคนเพื่อบุกตลาดเวียดนามอย่างจริงจัง เปิดรับบุคลากรที่มีศักยภาพ หลากหลายทักษะมากกว่า 500 ตำแหน่ง ทั้งในประเทศไทยและทีมงานที่อยู่ประจำสาขานครโฮจิมินห์ พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาให้กับพนักงานปัจจุบัน ทั้งการรีสกิล ทักษะด้านภาษา เทคโนโลยี บวกกับวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง เพื่อเป็นการผนึกกำลังสร้างบริการทางการเงินให้พร้อมรับกับตลาดดิจิทัล และบริบทของธุรกิจในภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

สำหรับการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย สาขานครโฮจิมินห์ ในช่วงแรกจะเน้นไปที่บริการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Lending) เจาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ในเวียดนาม (Local Large Corporate) โดยมุ่งไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต นิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการค้าและอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค บริโภค ให้บริการแก่บริษัทของไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ต้องการขยายธุรกิจไปเวียดนามเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีเป้าหมายขยายการให้บริการไปสู่ลูกค้ารายย่อยท้องถิ่นของประเทศเวียดนาม ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการผู้นำด้านดิจิทัล แบงกิ้ง และโมบาย แบงกิ้งของ KBANK ผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบุคคล และร่วมมือกับเทคสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ด้วยการร่วมลงทุนของ KVision เข้ามาช่วยในการให้พัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งต่างจากการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศ AEC+3 อื่น ๆ ที่จะเน้นให้บริการธุรกิจระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยขณะนี้มีกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) ระดับโลกที่สนใจเข้ามาหารือในการเป็นพันธมิตรร่วมกับธนาคารเพื่อสร้างอีโคซีสเต็มของการขยายธุรกิจในเวียดนาม ทั้งยังจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน (Unbank) และกลุ่มประชากรวัยทำงานที่มีโอกาสเติบโตได้อีกด้วย

KBANK พร้อมทยอยส่งมอบบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าเข้าสู่โลกของดิจิทัลแบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบผ่านสินเชื่อดิจิทัล โดยภายในปี 65 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อไว้ที่ 1,500 ล้านบาท จากลูกค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก 25,000 ราย ที่มาใช้บริการขอเงินกู้ (KBank Biz Loan) หรือร้านค้าออนไลน์ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการต่อยอดธุรกิจ และได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อหนุนศักยภาพทางธุรกิจในระดับภูมิภาคร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น เช่น การร่วมมือกับบริษัทฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีความเข้าใจในตลาดอย่างลึกซึ้ง เช่น IPOS VN., Haravan และ KiotViet ที่จะมาช่วยส่งมอบบริการได้ตรงใจลูกค้าได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

รวมถึง Sendo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อสร้างโซลูชั่นทางการเงินสำหรับผู้ค้าออนไลน์ ลูกค้าที่ใช้บริการกับพันธมิตรให้สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อทางธุรกิจได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วด้วยข้อมูลธุรกรรมจากพันธมิตร ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนสินเชื่อได้สูงสุดถึง 36 เดือน วงเงินกู้สูงสุดถึง 100 ล้านดงเวียดนาม หรือราว 150,000 บาท ด้วยดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 1.4% ต่อเดือน

การดำเนินธุรกิจธนาคารในเวียดนามไม่ได้เน้นธุรกรรมการเงินพื้นฐาน (Traditional Banking) เท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของธนาคารในธุรกรรมการเงินยุคใหม่ที่เป็นดิจิทัล แบงกิ้ง (Disruptive Banking / Digital Banking) เพราะประชากรของเวียดนามเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก มีความคุ้นเคยและพร้อมในเทคโนโลยีดิจิทัล ขณะที่ดิจิทัล อีโคซิสเต็มในเวียดนามยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ Asset-Light Regional Digital Expansion ที่มุ่งเน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยลงทุนและร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในท้องถิ่น รวมถึงการให้สินเชื่อระหว่างประเทศแก่บริษัทในท้องถิ่นในเวียดนาม โดยอาศัยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ

ทั้งนี้ยุทธศาสตร์หลักของ KBANK ในการก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างสมบูรณ์แบบจะสามารถเชื่อมต่อการให้บริการผ่านเครือข่ายของธนาคารในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการเป็นธนาคารท้องถิ่น สาขาของธนาคาร สำนักงานผู้แทน และสถาบันทางการเงินที่เป็นพันธมิตรของธนาคาร โดยปัจจุบัน KBANK มีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง และพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก มีฐานลูกค้าในภูมิภาคกว่า 1.85 ล้านคน และยังคงเดินหน้าขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top