นายเย็บ ซู ชวน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า แนวโน้มผลประกอบการบริษัทในไตรมาส 2/63 เชื่อว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดรอบปีจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ค่ายรถยนต์หยุดการผลิตชั่วคราวกดดันยอดคำสั่งซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ คาดว่าในเดือน เม.ย.ยอดขายหดตัวมากที่สุดและอาจจะต่อเนื่องในเดือน พ.ค.-มิ.ย.63
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจีนที่บริษัทเข้าไปลงทุนนั้น เป็นการผลิตเพื่อส่งให้กับค่ายรถยนต์ภายในประเทศจีนเท่านั้น ล่าสุดกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้เต็ม 100% แล้วภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ผ่อนคลาย เชื่อว่าประเทศไทยถ้าสถานการณ์ดีขึ้น มีโอกาสที่ความต้องการรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน คาดหวังเห็นการฟื้นตัวได้ชัดเจนในครึ่งปีหลัง เนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยเริ่มเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้นเพราะไม่ต้องการไปในพื้นที่เสี่ยงเว้นระยะห่างทางสังคมตามแนวทาง Social Distancing
ทั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่าแนวโน้มผลประกอบการทั้งปีนี้ แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาโควิด-19 แต่จะดีกว่าปีก่อนที่บริษัทมีขาดทุนสุทธิ 181 ล้านบาทเพราะต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญและด้อยค่าสินทรัพย์ไปกว่า 1 พันล้านบาท
“ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนกลับมาเติบโตรวดเร็วและเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ผู้ผลิตในจีนหลายยี่ห้ออย่าง Volkswagen ,Ford ,Mercedes-Benz มียอดผลิตกลับมารวดเร็ว บางโรงงานมียอดผลิตในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยน่าจะค่อยๆฟื้นตัว เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยมีจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เพราะนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล รวมถึงคนไทยมีความระมัดระวังตัวกันอย่างมาก”
นายเย็บ ซู ชวน กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทได้ประเมินสถานการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยปีนี้คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยในปีนี้มีโอกาสลดลงประมาณ 20% จากเป้าหมาย 1 ล้านคัน แม้ว่าไตรมาสแรกยังไม่ได้รับผลกระทบ ยอดขายเติบโตตามปกติ แต่ไตรมาส 2/63 มีแนวโน้มลดลงถึง 50% แต่ยังมีความคาดหวังเห็นการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง
ส่วนตัวเลขส่งออกรถยนต์ของไทยน่าจะมีโอกาสลดลงประมาณ 20% จากเป้าหมาย 1 ล้านคันเช่นกัน ปัจจุบันส่งออกรถยนต์กว่า 100 ประเทศ ซึ่งหลายประเทศคู่ค้าก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ล่าสุดเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ วันนี้เริ่มส่งสัญญาณเป็นบวกมากขึ้นหากเทียบกับในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
“ถ้าย้อนมองวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา วิกฤติต้มยำกุ้งไทยได้รับผลกระทบหนัก ประเทศอื่นอาจไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่ากับไทย เช่นเดียวกับวิกฤติน้ำท่วมอุตสาหกรรมของไทยก็โดนผลกระทบหนักเช่นกัน แต่วิกฤติโควิด-19 สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจทั่วโลกโดนผลกระทบหนัก คิดว่าเป็นวิกฤติที่หนักที่สุด ไม่ใช่แค่ผลพวงจากเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมคนหันมาป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค ไม่สามารถเดินทางติดต่อกันได้ต้องกักตัวเป็นเวลาหลายวัน กระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจให้ตกต่ำ โดยส่วนตัวมองเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤติ เป็นจังหวะให้ธุรกิจพัฒนาในหลายๆมิติทั้งบุคลากร พัฒนาวิธีคิด พัฒนาสินค้า หรือแม้แต่พัฒนาด้านทัศนคติ ช่วยยกระดับองค์กรใหม่เพื่อเข้าสู่ New Normal หลังโควิดได้จบสิ้นไปแล้ว”
นายเย็บ ซู ชวน ยอมรับว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ สามารถแข่งขันกับหลายประเทศทั่วโลกได้ ภายใต้วิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยมีโอกาสอย่างมาก เพราะปัจจุบันนักลงทุนชาวจีนให้ความสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตต่ำกว่าผู้ผลิตกลุ่มประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น ในภาวะการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีความยากขึ้น เป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนจีน และบางส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นเร่งตัดสินใจย้ายมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้นในระยะถัดไป
ทั้งนี้ ตามรายงานข้อมูล (23 เม.ย.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่ากรณีหากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกยังยืดเยื้อถึงเดือนมิ.ย.จะปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ของไทยในปีนี้เหลือ 1.4 ล้านคัน ลดลง 30% และหากปัญหายังต่อเนื่องถึงเดือน ก.ย. จะปรับลดเป้าผลิตลดลง 50% หรือเหลือ 1 ล้านคันจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ 2 ล้านคัน เนื่องจากคาดการณ์ตัวเลขส่งออกรถยนต์จะอยู่ที่ 5-7 แสนคันจากเป้า 1 ล้านคัน ขณะที่การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศลดลง 50% เหลือเพียง 5 แสนคันเท่านั้น
สำหรับในเดือน มี.ค.ไทยมีการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 146,812 คัน ลดลง 26.16 % จากเดือนมี.ค.62 โดยผลิตเพื่อส่งออกลดลง 17.78 % และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 35.32% ขณะที่ภาพรวมรถยนต์การผลิตรถยนต์ในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวนทั้งสิ้น 453,682 คัน ลดลง 19.2% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมี.ค.มีจำนวน 60,105 คัน ลดลง 41.74% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากเดือนก.พ. 11.96 % โดยยอดขายที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนมี.ค. อยู่ที่ 89,795 คัน ลดลง 23.71% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ตลาดโอเชียเนีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง รวมถึงผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 49,112.93 ล้านบาท ลดลง 17.85% จากเดือนมี.ค. 62
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 63)
Tags: AH, ชิ้นส่วนรถยนต์, หุ้นไทย, อาปิโก ไฮเทค, อุตสาหกรรมรถยนต์, เย็บ ซู ชวน, เศรษฐกิจไทย