น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นชอบแล้ว ตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค.64 ซึ่งได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินของรัฐเป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (ตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี
อนึ่ง กลุ่ม GPC ประกอบด้วย บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวที่ผ่านการประเมิน หากดำเนินการคัดเลือกใหม่อาจส่งผลให้การเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F ล่าช้าประมาณ 2 ปี และก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น การที่ปริมาณตู้สินค้าจะเกินขีดความสามารถในการรองรับในปี 2568 รวมถึงข้อจำกัดในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลต่อประมาณการตู้สินค้าในปัจจุบัน ซึ่ง กพอ.พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าว
ทั้งนี้การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในการเป็นประตูการค้า การลงทุนของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ย. 64)
Tags: GPC, PTT TANK, กพอ., กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, ท่าเรือแหลมฉบัง, ประชุมครม., พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล, มติคณะรัฐมนตรี, ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง, ไตรศุลี ไตรสรณกุล