บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ แถลงในวันนี้ว่า ผลการทดลองในระยะที่ 3 สำหรับยาเม็ดชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคโควิด-19 พบว่า ยาดังกล่าวสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียง 50%
ไฟเซอร์เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ยุติการทดลองแล้ว ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม หลังพบว่ายาดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และบริษัทจะส่งผลการทดลองดังกล่าวให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) หลังจากที่ไฟเซอร์ได้ยื่นเรื่องขออนุมัติการใช้ยาดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินต่อ FDA เมื่อเดือนต.ค.
ทั้งนี้ ไฟเซอร์ตั้งชื่อยารักษาโรคโควิด-19 ของทางบริษัทว่า Paxlovid โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 3 เม็ด
ไฟเซอร์เปิดเผยว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองดังกล่าวมีจำนวน 1,219 คน โดยเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี
ผลการทดลองพบว่า หากผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาของไฟเซอร์ภายในเวลา 3 วันหลังมีอาการ จะมีจำนวนเพียง 0.8% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้เสียชีวิตภายใน 28 วันหลังจากที่ได้รับยา ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 7% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาของไฟเซอร์ภายในเวลา 5 วันหลังมีอาการ จะมีจำนวน 1% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 6.7% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 10 คน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ย. 64)
Tags: COVID-19, Pfizer, โควิด-19, โมลนูพิราเวียร์, ไฟเซอร์