ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ต.ค.64 อยู่ที่ 43.9 จากเดือนก.ย.64 อยู่ที่ 41.4 โดยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.64 เป็นต้นมา
หลังจากผู้บริโภคเริ่มคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเริ่มมีแนวโน้มลดลง ประกอบการฉีดวัคซีนในประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงการคลายล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศ จะส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 37.8, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ 40.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 53.5 โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับในเดือน ก.ย. ที่ดัชนีอยู่ในระดับ 35.5, 37.8 และ 50.8 ตามลำดับ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า การที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัดเพิ่มเติม การปรับลดเวลาเคอร์ฟิว ในเดือน ต.ค.และยกเลิกเคอร์ฟิวในเดือน พ.ย. การประกาศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ รวมถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในการบริโภคและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี
รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาหมุนเวียนเพิ่มเติมในระบบเศรษฐกิจกว่าแสนล้านบาทจะทำให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก
“ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต หลังจาก ศบค.ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.64 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกเคอร์ฟิวและการเปิดประเทศที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 เป็นต้นไป”
นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เศรษฐกิจจะต้องขยายตัวไม่น้อยกว่า 4-5% จึงจะช่วยให้อัตราการเติบโตของทั้งในปีอยู่ที่ 1-1.5%
“ครึ่งปีแรกขยายตัว 0-1% แต่ไตรมาสสามติดลบไป 3-4% ไตรมาสสุดท้ายจึงต้องกระตุ้นให้ขยายตัว 4-5% จึงจะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้ 1-1.5%”
นายธนวรรธน์ กล่าว
นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐจำนวน 1 แสนล้านบาทที่ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบราว 3-5 แสนล้านบาทแล้ว คาดว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในเดือน พ.ย.จะมีจำนวน 2 แสนคน และเดือน ธ.ค.อีก 3-4 แสนคน ซึ่งจะสร้างรายได้ 1-1.5 หมื่นล้านบาท และยังมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง รัฐบาลควรใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 อีกราว 5 แสนล้านบาท ผ่านโครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน โครงการจ้างงานผู้จบใหม่, การจ้างงานเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น ซึ่งเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวจะช่วยให้จีดีพีขยายตัวได้ 3-4% จากเป้าที่ตั้งไว้ 5% โดยภาวะเศรษฐกิจจะกลับคืนสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ในปี 62 และมีอัตราการเติบโตที่สร้างความเชื่อมั่น เพราะนับตั้งแต่เริ่มใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติในปี 62 ภาวะเศรษฐกิจของไทยยังไม่เคยขยายตัวได้เกิน 5% เลย แต่การขยายตัวสองหลักคงเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากมีข้อจำกัด เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, การขาดแคลนแรงงาน, สถานการณ์ทางการเมืองไม่นิ่ง เป็นต้น
“รัฐบาลควรจะใช้เม็ดเงินก้อนใหญ้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมายังกังวลหากกระตุ้นในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 อาจได้ผลไม่เต็มที่ ซึ่งคาดว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในช่วงครึ่งปีหลัง 65”
นายธนวรรธน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 64)
Tags: lifestyle, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, เศรษฐกิจไทย