PTT คาดราคาน้ำมันต้นปี 65 มีโอกาสพุ่งแตะ 100 เหรียญฯ ก่อนปรับลดลงใน Q2-Q3

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวในงานสัมมนา”เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ?” ว่า คาดว่าราคาน้ำมันจนถึงต้นปี 65 จะเฉลี่ยอยู่ในระดับ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

แต่อาจขยับขึ้นไปแตะ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลในบางช่วงหากกลุ่มโอเปคไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันมากนัก บวกกับสภาพอากาศหนาวทำให้หลายประเทศเก็บสต๊อกน้ำมันมากขึ้น และเศรษฐกิจฟื้นตัวจากปัญหาโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้เกิดการเดินทางมากขึ้น แต่ในช่วงไตรมาส 2-ไตรมาส 3 ราคามีแนวโน้มลดลงเนื่องจากผ่านพ้นจุดของความต้องการใช้น้ำมันมสูงสุดไปแล้ว

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกค่อนข้างคับขัน เนื่องจากมีหลายสถานการณ์รุมเร้า ล่าสุดการประชุม COP 26 ที่หลายประเทศให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะส่งผลให้งบประมาณในการสำรวจน้ำมันลดลงถึง 20% ดังนั้น ซัพพลายของน้ำมันในอนาคตจะลดลงเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนถ่ายจากการใช้พลังงานจากฟอสซิลไปยังพลังงานสะอาด ทั้งนี้ในไตรมาส 4/64 ถึงช่วงต้นปี 65 ความต้องการน้ำมันก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากเป็นฤดูหนาว ประกอบกับจะมีการประชุมโอเปกที่อาจมีนโยบายเพิ่มกำลังการผลิต แต่การเพิ่มการผลิตดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ขณะที่ราคาน้ำมันในปัจจุบันอยู่ที่ 80-85 เหรียญฯ/บาร์เรล เนื่องจากซัพพลายถูกจำกัด แต่อุปสงค์ของโลกมีสูงขึ้น จากเมื่อเดือนที่แล้วเกิดพายุที่ประเทศสหรัฐฯ ทำให้ซัพพลายขาดแคลน ประกอบกับมีการเปิดประเทศ เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม รวมทั้งราคาน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายล่วงหน้า จึงสามารถคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 65 คาดอยู่ที่ประมาณ 85-100 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากปัจจัยต่างๆ ทั้งฤดูหนาว โควิด-19 คลี่คลาย และโอเปกไม่เพิ่มการผลิต จึงอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันขึ้นไปถึง 100 เหรียญฯ/บาร์เรล

ขณะเดียวกัน ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก็ปรับตัวสูงขึ้นมาประมาณ 1 เท่าตัว เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับซัพพลายจากรัสเซียลดลง และจีนซื้อ LNG มากขึ้นเพื่อสำรองในช่วงฤดูหนาว โดยประเด็นด้านการเมืองของรัสเซียที่เป็นผู้ผลิตก๊าซอันดับ 2 ของโลก ไม่ปลอยก๊าซให้ยุโรป ทำให้เกิดการปรับมาใช้น้ำมันแทนทำให้ความต้องการน้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นราคาจึงยืนอยู่ในระดับสูง

ทางฝั่งประเทศจีน ก็มีนโยบายด้านพลังงานที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในปี 2573 และจะลดลงในปี 2603 จึงออกแผนควบคุมการลดการใช้พลังงาน ซึ่งปกติจีนจะใช้พลังงานถ่านหิน แต่ถ่านหินปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์สูง จึงต้องมีการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซและน้ำมันแทน ดังนั้นจึงจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นไปอีก นอกจากนั้น ยังต้องจับตานโยบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ไม่สนับสนุนการผลิตน้ำมัน และหันมาใช้พลังงานสะอาด ซึ่งแตกต่างกับนโยบายเดิมของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่สนับสนุนการผลิตน้ำมันจากฟอสซิล

อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันสามารถลงไปต่ำกว่า 80 เหรียญฯ/บาร์เรล ได้ เนื่องจากมีอีกหลายปัจจัยที่อาจกลับมา เช่น อิหร่านอาจกลับมาผลิตน้ำมันได้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ซัพพลายในตลาดเพิ่มขึ้น ถ้าเข้ามาในช่วงเดือน เม.ย.65 เป็นต้นไป ราคาน้ำมันอาจสามารถลดลงมาได้

“การประชุมโอเปกน่าจะคงราคาน้ำมัน เนื่องจากขณะนี้โอเปกพึงพอใจในราคาน้ำมัน เนื่องจากปีที่แล้วราคาน้ำมันลดลง ทั้งนี้จะมีการมีการเพิ่มปริมาณการผลิต แต่ยังไม่รู้ว่าจะปรับเพิ่มเท่าไหร่ รวมถึงยังมีปัจจัยก๊าซเข้ามา เนื่องจากจะเข้าสู่ในช่วงฤดูหนาวด้วย” 

นายดิษทัต กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top