Squid Game ซีรีส์ระทึกขวัญจากเกาหลีใต้ กลายเป็นซีรีส์ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในปีนี้ ตั้งแต่ที่เริ่มเปิดให้รับชมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาทาง Netflix โดยมีผู้ชมหลายล้านคนทั่วโลกที่ตามดูซีรีส์เรื่องดังนี้ จนอาจจะทำให้ “Squid Game เป็นออริจินอลซีรีส์ที่ดังที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนแพลตฟอร์ม Netflix” ด้วยความสามารถในการดึงประเด็นเรื่องการครอบงำของความโลภและจุดเด่นของเกมที่เด็ก ๆ เล่นมาผสานกับความรุนแรง รวมทั้งงานภาพที่ดึงดูดสายตา และเนื้อหาเสียดสีธาตุแท้ของมนุษย์ ทำให้ Squid Game ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างล้นหลาม
นับตั้งแต่ที่มีการเปิดให้รับชม Squid Game เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ปริมาณหรือจำนวนการพูดคุยกันถึง Squid game ในโซเชียลมีเดียก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นจาก 30,000 กว่าครั้งในวันแรกที่ซีรีส์เริ่มฉาย พุ่งไปถึงถึง 1 ล้านกว่าครั้งเมื่อวันที่ 29 กันยายน โดยกว่า 230,000 ข้อความที่กล่าวถึง Squid Game มีการใช้แฮชแท็ก #squidgame เมื่อถึงวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่าน ยอดการกล่าวถึง Squid gameได้พุ่งสูงไปกว่า 9 ล้านข้อความ ชาวเน็ตกว่า 8 ล้านคนได้โพสต์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ด “Squid Game” หรือ “SquidGame” เรียกได้ว่าภายใน 2 สัปดาห์ที่ Squid Game เริ่มฉาย ซีรีส์ดังถูกกล่าวถึงในโซเชียลมีเดียกว่า 1.5 ล้านครั้ง พุ่งขึ้นถึง 331% ในสัปดาห์ที่ 2
ความรู้สึกที่หลากหลายของผู้ชม Squid Game
ในขณะที่ Squid Game โด่งดังไปทั่วโลก ความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ชมที่มีต่อซีรีส์ก็หลากหลาย จากสถิติชี้ว่า ผู้ชมส่วนใหญ่รู้สึกโศกเศร้า ตามมาด้วยความสนุกสนาน ซึ่งเป็น 2 ขั้วอารมณ์ที่ผู้ชมมักจะกล่าวถึง Squid Game และอันดับ 3 คือ อารมณ์โกรธเคือง
ชาวเน็ตรู้สึกเศร้าใจไปกับบทสรุปของเนื้อเรื่องผ่านการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากซีรีส์มีเนื้อหารุนแรง ทำให้ความตายของตัวละครเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางส่วนก็แสดงความสะเทือนใจจากการนำเสนอความเป็นจริงอันโหดร้ายของสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ซึ่งช่วยชูประเด็นเรื่องความอยุติธรรมและมนุษยธรรมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ยังมีผู้ชมเป็นจำนวนมากที่รู้สึกผิดหวัง หากสื่อตะวันตกจะนำซีรีส์เรื่องดังนี้ไปสร้างใหม่
จากสถิติของหัวข้อการพูดคุยกันบนโซเชียลมีเดีย พบว่า การแสดงออกซึ่งอารมณ์สนุกสนานอยู่ในอันดับรองลงมาเมื่อมีการกล่าวถึง Squid Game โดยแฟนคลับซีรีส์เรื่องดังจำนวนมากพึงพอใจเมื่อตนเองได้กล่าวถึงบทหรือตัวละครที่ชอบในซีรีส์ ขณะที่ผู้ชมบางส่วนมองว่าการรับชมซีรีส์เรื่องนี้ทำให้นึกถึงเวลาที่ได้ดูซีรีส์เกาหลีเรื่องอื่น ๆ ซึ่งมีจุดหักมุมเช่นเดียวกัน แต่บางส่วนเกิดความรู้สึกร่วมไปกับ “อุปสรรคกลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ที่ตัวละครในซีรีส์ต้องเผชิญ นอกจากนี้ผู้ชมได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับ ช็อง โฮ-ย็อน นักแสดง-นางแบบสาวที่โด่งดังเป็นพลุแตกจากบทบาทใน Squid Game จนทำให้เธอมีผู้ติดตามในอินสตาแกรมเพิ่มมากขึ้นกว่า 15 ล้านคน
นอกจากนี้เหล่าแฟนคลับซีรีส์ยังสนุกสนานไปกับการโพสต์รูปภาพในชีวิตประจำวันของตนเองที่ทำให้นึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ Squid Game
ทั้งนี้ ข้อมูลยังชี้ด้วยว่า “อารมณ์โกรธ” เป็นการแสดงออกที่อยู่ใรอันดับ 3 ส่วนใหญ่แล้ว อารมณ์โกรธจะมาจากความไม่พอใจที่มีต่อคำบรรยายภาษาอังกฤษที่ไม่สามารถแปลออกมาให้ถูกต้องตามบทต้นฉบับภาษาเกาหลีได้ และการหักมุมของมุกในเรื่อง แล้วแบรนด์ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกาะกระแส Squid Game อย่างไร?
แบรนด์ต่าง ๆ หาช่องทางที่จะโปรโมทคอนเทนต์ไปกับความร้อนแรงของ Squid Game อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะผ่านไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ “จังหวะหรือช่วงเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการตามเทรนด์” โดยแบรนด์สามารถสังเกตหรือจับเทรนด์ต่างๆ อย่างเท่าทันเหตุการณ์ได้ผ่านทาง Cision Social Listening นอกเหนือจากการติดตามเทรนด์ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้อยู่ในกระแส แบรนด์ต่างๆ สามารถติดตามเพื่อจับอารมณ์ความรู้สึกของวงสนทนาในสังคม เพื่อหาช่องว่างในการเข้าไปมีส่วนร่วมสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความหมายได้
ตัวอย่างของแบรนด์ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ร่วมตอบรับกระแสความปังของ Squid Game
1. RapidKL ผู้ให้บริการขนส่งมวลชนในประเทศมาเลเซีย เผยแพร่คลิปวิดีโอชายสองคนกำลังเล่นเกมตั๊กจี (Ddakji) ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมที่ปรากฏใน Squid Game ขณะอยู่ที่สถานีรถไฟเพื่อโปรโมตบัตรเดินทาง
2. Marigold HL Milk ประเทศสิงคโปร์ เผยแพร่ภาพโปรโมทผลิตภัณฑ์นมรสช็อคโกแลต โดยใช้ภาพตัวละคร Squid Game ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก
3. สายการบินฮ่องกง (Hong Kong Airlines‘) โพสต์รูปขนมดัลโกนา (Dalgona) หรือขนมน้ำตาลที่ปรากฏใน Squid Game แต่ลวดลายบนขนมถูกทำเป็นรูปเครื่องบินของสายการบิน
บางแบรนด์ก็ไม่ได้ชูแค่เรื่องเกมและความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ใช้โอกาสนี้กล่าวถึง “ความไม่แน่ไม่นอนเกี่ยวกับอนาคต” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในซีรีส์ Squid Game เช่น มหาวิทยาลัยกัวลาลัมเปอร์ (UniKL) โพสต์ในเฟซบุ๊กในเชิงการตั้งคำถามว่า “ทำไมเราถึงต้องเล่น #Squidgame” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านฐานะของผู้คนที่ไม่สามารถจ่ายค่าเรียนในการศึกษาระดับที่สูงขึ้นได้
ที่มา : พีอาร์นิวส์ไวร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 64)
Tags: NETFLIX, Social Listening, Squid Game, พีอาร์นิวส์ไวร์, โซเชียลมีเดีย