กระแส NFT (Non-Fungible Token) ร้อนแรงอย่างมากในปี พ.ศ.2564 แม้แต่ NFT ภาพปกแรกพร้อมลายเซ็นของการ์ตูนขายหัวเราะก็ถูกขายไปในราคามากกว่า 1 ล้านบาท โดย NFT เป็นการออกโทเคนที่มีลักษณะเฉพาะตัวหรือไม่สามารถนำโทเคนดิจิทัลหรือทรัพย์สินอื่นมาทดแทนกันได้ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ภาพจึงนำผลงานของตัวเองไปอิงกับโทเคนดิจิทัลให้เกิดเป็นโทเคนดิจิทัลที่พิเศษกว่าโทเคนดิจิทัลอื่น ๆ หรือมีโทเคนเดียวในโลกและนำไปออกขายบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)
แต่อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมายคือ เมื่อซื้อขาย “NFT” กันแล้ว สิทธิ หรือ ลิขสิทธิ์ ในภาพว่าที่อิงกับ “NFT” นั้น ๆ จะตกเป็นของใคร ?
ประการแรกสถานะของ “NFT” นั้นมีราคาและอาจถือเอาได้ซึ่งในทางกฎหมายจึงมีลักษณะเป็นทรัพย์สิน ดังนั้นเมื่อซื้อขาย “NFT” กันแล้ว ผู้ซื้อ “NFT” จะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ รวมถึงสิทธิครอบครองในโทเคนดิจิทัลที่มีลักษะพิเศษ หรือมีโทเคนเดียวในโลกนั้น ๆ สามารถเก็บรักษา จำหน่าย จ่าย โอน หรือ ขายโทเคนดิจิทัลนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งแยกต่างหากกับผลงานศิลปะอันมีลิขสิทธิ์ที่ถูกใช้อิงกับ NFT นั้น ๆ
ประการต่อมา พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กำหนดให้ภาพหรืองานศิลปะในทำนองดังกล่าว เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่สิทธิในภาพนั้นจะเป็นของศิลปินผู้สร้างสรรค์และสิทธิจะเกิดขึ้นอัตโนมัตินับแต่ได้สร้างสรรค์ผลงานเสร็จ โดยไม่ต้องจดทะเบียนเหมือนการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบอื่น ๆ
ดังนั้น การโอนสิทธิในผลงานในโลกแห่งความเป็นจริง (Physical World) นั้น ๆ ศิลปินหรือผู้ซื้อจะได้สิทธิเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไข หรือข้อสัญญาระหว่างศิลปินและผู้ซื้อ NFT นั้น ๆ เช่น สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement) หรืออาจจะเป็นข้อกำหนดและเงื่อนไข (Terms and Conditions) บนแพลตฟอร์มที่ใช้ซื้อขายที่กำหนดสิทธิของแต่ละฝ่ายเอาไว้ก่อนเข้าใช้งาน กล่าวคือการซื้อ NFT ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาของงานศิลปะนั้น ๆ มาด้วยเสมอไป
ดังนั้น การซื้อขาย NFT ผู้ซื้อต้องทำความเข้าในพิจารณาสัญญาซื้อขายอาจรวมถึงสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ให้ชัดเจนว่าผู้ซื้อมีสิทธิหรือความเป็นเจ้าของในงานศิลปะหรือทรัพย์สินทางปัญญานั้น ๆ ด้วยหรือไม่เพียงใด ผู้สร้างสรรค์หรือผู้ซื้อต่างฝ่ายต่างสามารถนำมาทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่หรือจำหน่ายต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้รับโยชน์สูงสุด มิเช่นนั้นแล้วท่านก็อาจเป็นเพียงเจ้าของโทเคนดิจิทัลหน่วยหนึ่งซึ่งมีโทเคนเดียวแต่ก็อาจไม่ได้มีความพิเศษใด ๆ อิงอยู่ก็ได้
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วน กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group)
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center: THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 64)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, NFT, Non Fungible Token, คริปโทเคอร์เรนซี, สินทรัพย์ดิจิทัล, โทเคนดิจิทัล