โบรกเกอร์แนะ”ซื้อ”หุ้น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) มองแนวโน้มยังเติบโตได้ต่อเนื่องแม้ว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนเดินทางน้อยลง แต่คาดว่าธุรกิจจะฟื้นกลับมาได้เร็ว โดยอาจกลับสู่ปกติในช่วงปลายปีนี้ เพราะมีผู้ใช้บริการชัดเจนทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า
นอกจากนี้ ราคาหุ้น BEM ที่ปรับตัวลงไปมากแตะระดับต่ำสุดที่ 6.05 บาทเมื่อ 13 มี.ค.63 รับรู้ปัจจัยลบไปพอสมควรแล้ว แม้บางโบรกเกอร์จะปรับลดราคาเป้าหมายไปบ้างเพื่อสะท้อนกับผลประกอบการที่คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้อยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท ลดลง 46% จากปีก่อน แต่มองเป็นจังหวะลงทุนระยะยาว รวมทั้งผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเพียงชั่วคราวไม่ได้กระทบกับมูลค่ากิจการ
ราคาหุ้น BEM พักเที่ยงอยู่ที่ 9.10 บาท ลดลง 0.10 บาท (-1.09%) ทิศทางเดียวกับ SET ที่ปรับลดลง 1.02%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
เคจีไอฯ | ซื้อ | 10.00 |
ทรีนีตี้ | ซื้อ | 10.00 |
ทิสโก้ | ซื้อ | 10.50 |
เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ | ซื้อ | 13.30 |
เคทีบี (ประเทศไทย) | ซื้อ | 11.00 |
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หุ้น BEM อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และคาดว่าจุดพีคช่วงกลางเดือน เม.ย.เพราะหลังจากผ่านมาแล้วจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากสถานการณ์คลี่คลายและคนกลับมาทำงานตามปกติ กิจการรถไฟฟ้าก็จะฟื้นกลับมาได้ไม่ยาก เพราะถือว่าส่วนนี้เป็นรายได้ประจำอยู่แล้ว ประกอบกับ ราคาหุ้นลงมาลึกแล้ว
นอกจากนี้ BEM เป็นธุรกิจรถไฟฟ้าที่มีอายุสัญญาสัมปทานระยะยาว ช่วงที่รายได้หายไปเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรืออาจประมาณ 3 เดือน จึงไม่กระทบต่อภาพรวมมูลค่ากิจการ และยังเห็นว่า BEM ยังมีโอกาสร่วมดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ในอนาคตอีกด้วย
“ราคาหุ้นลงลึกไปแล้ว สถานการณ์เริ่มกลับมาดี ส่วนผลกระทบต่อมูลค่ากิจการไม่มาก แนะนำให้ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 11 บาทซึ่งปรับลดจากเดิมที่ 12.10 บาทจากผลกระทบโควิด”
นายมงคล กล่าว
ทั้งนี้ ราคาเป้าหมายที่ 11.00 บาท อิง DCF (WACC 5%, Terminal Growth 1.5%) ปรับลดลงจากเดิมที่ 12.10 บาท จากการปรับลดกำไรปี 63 ลง 20% มาที่ 2.9 พันล้านบาท หรือหดตัว 46% จากปีที่แล้ว เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่หากไม่นับกำไรพิเศษจากการโอนเปลี่ยนประเภทเงินลงทุนในปีก่อน กำไรปกติของในปีนี้จะอยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีที่แล้ว จากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบวงจร
ขณะที่ประมาณการกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 ที่ 503 ล้านบาท ลดลง 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ตามสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงรถไฟฟ้า โดยคาดว่าผลกระทบกินเวลาประมาณ 3 เดือนจนถึงเดือน มิ.ย.63 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายคาดว่าผู้ใช้บริการจะกลับมาเหมือนเดิมได้โดยเร็ว
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดว่า BEM จะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 ที่ 552 ล้านบาท เติบโต 6% จากไตรมาสก่อน แม้จะหดตัว 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบทั้งเส้นในเดือน มี.ค.63 ซึ่งยังเป็นไตรมาสที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากนัก แต่คาดว่ากำไรสุทธิจะหดตัวมากสุดในไตรมาส 2/63 จากจำนวนรถใช้ทางด่วนและผู้โดยสารจะลดลงมากสุด
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาดคลี่คลาย BEM จะอยู่ในสถานะที่ฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีฐานผู้ใช้บริการที่ชัดเจน โดยคาดว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ปกติได้ภายในปลายปีนี้ ดังนั้นเชื่อว่าผลประกอบการของ BEM ยังคงเติบโตเฉลี่ย 26% ต่อปี (ปี 63-66) และจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนในปี 64 ประเมินกำไรสุทธิโต 58% ดังนั้น ด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสการลงทุนระยะยาว
อนึ่ง BEM รายงานจำนวนรถใช้ทางด่วน เดือน มี.ค.ลดลงถึง 20.5% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 25.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาที่ 955,746 คันต่อวัน โดยในไตรมาส 1/63 รถใช้ทางด่วนลดลง 8.8% จากไตรมาสก่อน และ ลดลง 11.0% จากงวดปีก่อน มาที่ 1,123,129 คันต่อวัน เส้นทางที่ลดลงมากที่สุด คือ Sector D (พระราม 9- ศรีนครินทร์)
ขณะที่จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.พ.63 เป็นต้นมา โดยเดือน มี.ค.63 จำนวนผู้โดยสารลดลง 29.2% จากงวดปีก่อน และ 35.7% จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 233,976 เที่ยวคนต่อวัน จากระดับปกติที่ 300,000 เที่ยวคนต่อวัน และสำหรับไตรมาส 1/63 จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 331,050 เที่ยวคนต่อวัน ลดลง 14% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.5% จากงวดปีก่อน
บทวิเคราะห์ บล.ทรีนิตี้ ระบุว่า BEM จะมีรายได้ในไตรมาส 1/63 ลดลงเป็น 3.8 พันล้านบาท ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 8% จากไตรมาสก่อน จากจำนวนผู้ใช้ทางด่วนที่ลดลง 10.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีจำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ทำให้ EBITDA margin ลดลงเหลือเพียง 49% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 55%
นอกจากนี้ BEM จะไม่มีการรับรู้กำไรจากบริษัทร่วมอย่าง บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) และบมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) อีกแล้ว หลังเปลี่ยนการรับรู้เป็นรายได้จากเงินปันผล ส่งผลให้ BEM จะมีกำไรลดลงเป็น 334 ล้านบาท ลดลง 61% จากงวดปีก่อน และลดลง 35% จากไตรมาสก่อน หรือน้อยกว่านั้นหากต้นทุนการบริหารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายมีการเติบโตสูงกว่าที่คาด
การประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงในเมืองตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา รวมไปถึงการยกระดับความเข้มข้นในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่องจากทางรัฐบาล ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในเดือนมี.ค.ผู้ใช้บริการทางด่วนลดลงถึง 26% จากงวดปีก่อน เหลือเพียงราว 9.6 แสนเที่ยวต่อวัน ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่สมัยน้ำท่วมปี 54 ขณะที่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเองก็ลดลงถึง 29% จากงวดปีก่อน เหลือเพียง 2.3 แสนเที่ยวต่อวัน ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ทั้ง ๆ ที่เริ่มมีการเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย แสดงให้เห็นถึงผลกระทบโดยตรงต่อ BEM อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ มองว่าในเดือนเม.ย.63 จะมีแนวโน้มการใช้บริการของทั้งสองธุรกิจนี้ลดลงมากกว่า 30% ทำให้ไตรมาส 2/63 จะมีจำนวนผู้ใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าต่ำที่สุดของปี ก่อนจะฟื้นตัวได้ในช่วงถัดไป
บนสถานการณ์ปัจจุบัน มองว่าการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นไปทำจุดต่ำสุดที่ราว 6 บาทนั้นได้สะท้อนปัจจัยลบไปหมดแล้ว (PBV และ PE ที่ระดับ -2SD) หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อภายในประเทศนั้นดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน และทั่วโลกสามารถจัดการได้ 100% ภายใน 3-6 เดือนต่อจากนี้ การฟื้นตัวของผู้ใช้บริการของ BEM จะกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากประชาชนยังจำเป็นต้องใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าในการเดินทางเช่นเดิม
ดังนั้น จึงยังคงแนะนำ “ซื้อ” BEM ที่ราคาเป้าหมายใหม่ 10 บาท จาก 11.40 บาท คาดหวังการฟื้นตัวในปีหน้าภายหลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยมีปัจจัยบวกจากการเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวมไปถึงต้นทุนค่าเสื่อมราคาของสัญญาสัมปทานทางด่วนที่ลดลงภายหลังการต่อสัญญาใหม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 63)
Tags: BEM, Consensus, ทรีนีตี้, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, ทิสโก้, บล.เคทีบี, มงคล พ่วงเภตรา, รถไฟฟ้า, เมย์แบงก์ กิมเอ็ง