นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 3/64 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 1,560 ล้านบาท ลดลง 6.3% จากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ธุรกิจชะลอตัวลง แต่การตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง จากความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างดี ในขณะที่สถานการณ์การระบาดเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายน และการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ ระดับเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) ยังคงแข็งแกร่งที่ 196.5%
ในไตรมาสที่ผ่านมาบริษัทยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและมาตรการปิดเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการแก้หนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืน เพิ่มเติมจากการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถยนต์ โดยเปิดโครงการพิเศษ “คืนรถจบหนี้” สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ โดยตลอดทั้งโครงการมีผู้สนใจเข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 3,000 ราย ขณะเดียวกัน ยังเปิดตัวโครงการคุ้มคาร์ “ขายรถปิดหนี้” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องขายรถหรือต้องการส่งต่อรถให้กับเจ้าของใหม่ สามารถนำรถยนต์มาประกาศขายผ่านเว็บไซต์ TaladRod.com โดยเปิดให้ลูกค้าที่สนใจลงทะเบียนได้จนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 64
“หากมองไปในระยะข้างหน้า แม้จะเห็นสัญญาณบวกของสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มดีขึ้นจากการเข้าถึงวัคซีนที่มากขึ้น และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวในเดือนพ.ย.นี้ แต่บริษัทจะยังคงให้ความสำคัญกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบระมัดระวังและเน้นการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน นั่นหมายถึงความทุ่มเทในการให้บริการ ความพอดีในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ การให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างตรงกลุ่มและแก้ปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จ
ควบคู่กับการแสวงหาโอกาสการเติบโตใหม่ในกลุ่มที่เป็น Growth Engine เช่น การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี (TISCO Advisory) การสนับสนุนเงินให้สินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เพื่อตอบสนองแนวคิด Green Economy ของทางภาครัฐ การขยายการเติบโตของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถบรรทุกเพื่อเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อม และการพัฒนาธุรกิจ Freedom Platform เพื่อช่วยลูกค้ากลุ่มพนักงานรายได้ประจำในการวางแผนทางการเงินและแก้ไขหนี้ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับเป็นตัวตั้ง รวมถึงการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆได้มากขึ้น” นายศักดิ์ชัย กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 3/64 เทียบกับไตรมาส 2/64 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,560 ล้านบาท ลดลง 6.3% จากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมาตรการล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ธุรกิจหลักของกลุ่มทิสโก้ชะลอตัวลง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 1.8% ตามการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัว รายได้ค่าธรรมเนียมอ่อนตัวลง 9.9% จากธุรกิจนายหน้าประกันภัยและธุรกิจจัดการกองทุนที่อ่อนตัวลง ประกอบกับการรับรู้ผลขาดทุนบางส่วนจากมูลค่าเงินลงทุนที่ผันผวนตามสภาวะตลาดทุนทั่วโลก อย่างไรก็ดี ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 0.5% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เนื่องจากการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายในช่วงท้ายของไตรมาส และมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 16.2%
สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 64 กำไรสุทธิมีจำนวน 4,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจตลาดทุนที่เติบโต และการรับรู้กำไรจากเงินลงทุน โดยรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 5.8% เป็นผลมาจากปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และการออกกองทุนใหม่ที่ตอบรับความต้องการของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังคงอ่อนตัว โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 10.1% จากสินเชื่อที่ชะลอตัว และรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังอ่อนตัวลงจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยเป็นหลัก บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) งวด 9 เดือนแรกอยู่ที่ 16.9%
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 ก.ย. 64 มีจำนวน 204,408 ล้านบาท ลดลง 9.1% จากสิ้นปีก่อนหน้า โดยบริษัทยังคงดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.0% ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีกว่าความคาดหมาย และมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่สามารถควบคุมได้ดี และบริษัทยังคงมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 196.5%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 24.7% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.7% และ 5.0% ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ต.ค. 64)
Tags: TISCO, ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป, ธนาคารทิสโก้, ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์, หุ้นไทย