ชาวสวนปาล์ม เล็งเสนอรัฐบาลทบทวนปรับสูตรดีเซลบี 6 ชี้หากขยายเวลามาตรการออกไปจะส่งผลกระทบราคาปาล์มที่สูงอยู่ในขณะนี้ มองการเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยไม่มีมาตรการรองรับทำให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อห่วงโซ่ปาล์มทั้งระบบ
นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า การปรับลดสัดส่วนผสมดีเซลจาก B10 และ B7 เป็น B6 เป็นมาตรฐานชั่วคราว โดยให้มีผลในระหว่างวันที่ 11-31 ต.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบลดลงเป็นจำนวนมาก และจะส่งผลกระทบถึงราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกร
แม้ว่าการปรับลดเป็นน้ำมันดีเซล B6 ในระยะเวลา 20 วันนั้น เกษตรกรอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่จะเป็นผลกระทบแบบสะสมระยะยาว เนื่องจากขณะนี้ราคาปาล์มน้ำมันในตลาดโลกยังคงสูงอยู่
ดังนั้นสภาเกษตรกรฯ จะไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด โดยขอให้รัฐบาลหันไปใช้นโยบายด้านอื่นแทน เนื่องจากน้ำมันไบโอดีเซลไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำมันดีเซลแพง เพราะส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลเมื่อผสมกับไบโอดีเซลแค่ประมาณ 50 สตางค์ต่อลิตร นอกจากนี้ จะยังสามารถช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้ถึง 3.5 แสนครัวเรือน รวมทั้งอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบด้วย
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงของมาตรการปรับลดเป็นน้ำมันดีเซล B6 มีดังนี้ 1.น้ำมันไบโอดีเซล B100 ไม่ได้เป็นภาระหลักของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2.การให้ข่าวโจมตีน้ำมันไบโอดีเซล B100 เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำลายขวัญ และกำลังใจเกษตรกรชาวสวนปาล์ม 3.นโยบายการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B100 มาผสมกับน้ำมันดีเซล จนได้รับการยอมรับมาตรฐานเป็น B7 B10 และ B20 เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานสะอาด ลดมลภาวะสร้างเศรษฐกิจในชาติ
4.รัฐบาลควรรักษานโยบายที่ได้ให้ไว้กับประชาชนมากกว่าการมองเรื่องราคาน้ำมันอย่างเดียว 5.สถานการณ์น้ำมันที่สูงขึ้นเป็นไปตามกลไกตลาดโลก แต่ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ราคาปาล์มน้ำมันดีขึ้น และ 6.ปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้นระยะยาวไม่สามารถปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกได้ง่ายเหมือนพืชชนิดอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงนโยบายชั่วคราวเช่นนี้โดยไม่มีมาตรการดีๆ มารองรับ จะก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อห่วงโซ่การผลิตปาล์มทั้งระบบ
สำหรับข้อเรียกร้องที่จะยื่นต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) คือ กลุ่มเกษตรกรไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างราคาที่มาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เนื่องจากเป็นการนำข้อมูลจากโรงสกัดต่างๆ มารวมกับต้นทุนการผลิต เพื่อหาค่าวิเคราะห์ และค่าเฉลี่ย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ใช่งานวิจัย เพราะโรงสกัดจะไม่บอกราคาต้นทุนที่ต่ำสุด
ดังนั้นต้องมีการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเปรียบเทียบหาข้อมูลทางสถิติ พร้อมทั้งศึกษาต้นทุนของประเทศอื่นๆ เช่นประเทศมาเลเซีย และนำมาวิเคราะห์โครงสร้างราคาของประเทศไทยว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร เพื่อให้ไทยสามารถสู้กับตลาดโลกได้ และเกษตรกรชาวสวนปาล์มจะได้ไม่โดนกดราคาจากการตั้งต้นทุนสูง
ด้านนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย มองว่า ถ้าไม่ยืดเวลาออกไปมากกว่าวันที่ 31 ต.ค. เกษตรกรจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากขณะนี้ราคาปาล์มน้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงอยู่ แต่หากขยายเวลาออกไปเกษตรกรจะได้รับผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากผลผลิตจะออกมามากขึ้น ทั้งนี้จะมีการประชุมในกลุ่มเกษตรว่าจะยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) หรือจะเดินทางไปที่กระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้นำน้ำมันดีเซล B10 กลับมาใช้ และอย่ายืดเวลาออกไปมากกว่านี้
“การปรับลด B10 นั้นไม่ได้ประโยชน์อะไร เนื่องจากรัฐก็ยังต้องใช้งบประมาณในการดึงราคาน้ำมันดีเซลให้ลงมาอยู่ที่ 28.29 บาท นอกจากนี้ราคาปาล์มเพิ่งจะปรับตัวสูงขึ้นมาช่วงสั้นๆ ในรอบ 10 ปี ดังนั้นการที่กระทรวงพลังงานออกมาตรการในเวลานี้ จึงมองว่าอาจไม่หยุดอยู่แค่วันที่ 31 ต.ค.” นายมนัส กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 64)
Tags: น้ำมันดีเซล, ปาล์มน้ำมัน, พันศักดิ์ จิตรรัตน์, มนัส พุทธรัตน์