บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 1.95 บาท/หุ้น พร้อมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อระหว่างวันที่ 6-8 ต.ค.64 และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 19 ต.ค.นี้
นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย HENG เปิดเผยว่า ราคาเสนอชขายหุ้น IPO ของ HENG มาจากการสำรวจความต้องการของนักลงทุนสถาบันซึ่งแสดงความต้องการซื้อหุ้นเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรร และถือเป็นราคาที่สะท้อนพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง
HENG เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจที่โดดเด่นที่จะช่วยผลักดันให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด และยั่งยืนในอนาคต จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 800,837,300 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 21% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท
พร้อมทั้ง แต่งตั้งผู้ร่วมจัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ได้แก่ บล.บัวหลวง บล.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ บล.หยวนต้า และ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)
นายวิชัย ศุภสาธิตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการใหญ่ HENG กล่าวว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของ HENG ที่จะช่วยเสริมศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทได้นำความเชี่ยวชาญของ 4 กลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี มารวมกันจึงสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน
บริษัทมีเป้าหมายในการอขยายการให้บริการไปสู่ภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ครอบคลุม ทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน พร้อมทีมพนักงานเฮงลิสซิ่งที่คัดเลือกคนในพื้นที่สาขาให้บริการ ซึ่งเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของลูกค้าในแต่ละท้องถิ่น ทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและบริษัทยังมีพันธมิตรเป็นผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองและนายหน้ากว่า 5,100 ราย ที่เปรียบเสมือนสาขาของ HENG คอยช่วยแนะนำผลิตภัณฑ์และต่อยอดโอกาสขยายธุรกิจไปสู่ผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทอื่น ๆ รวมถึงการให้บริการนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ทำให้สินค้าและบริการของเฮงลิสซิ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร
อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าการที่จะมีธนาคารพาณิชย์รายใหญ่เข้ามาในธุรกิจเดียวกับบริษัท บริษัทมองว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบและไม่มีความกังวลในเรื่องดังกล่าว เพราะว่าในกลุ่มธุรกิจลีสซิ่งที่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แม้ว่าจะมีธนาคารพาณิชย์รายใหญ่เข้ามารุกตลาดมากขึ้น แต่ยังเป็นผู้เล่นรายเดิม ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่ได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น บริษัทยังมีจุดแข็งในเรื่องฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง และความเข้าใจในพฤติกรรมความต้องการใช้สินเชื่อของลูกค้า ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจที่ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจุบันยังไม่ทราบว่าแผนการตลาดของการดำเนินธุรกิจลีสซิ่งของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่จะเป็นอย่างไร แต่บริษัทจะไม่ประมาท และยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันการเติบโตให้กับธุรกิจของบริษัท
นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HENG เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้นผ่านการลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้าน Software และ Mobile Application เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการ ควบคู่กับการขยายสาขาในภูมิภาคต่างๆ โดยมีเป้าหมายขยายสาขาหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วภายในปี 66 จะมีสาขาเพิ่มเป็น 830 สาขา จากปัจจุบันมีสาขารวม 451 สาขา เพื่อครอบคลุมฐานลูกค้ารายใหม่ๆ
บริษัทจะเน้นการขยายออกไปนอกภาคเหนือที่เป็นฐานลูกค้าหลักของบริษัท โดยเฉพาะการขยายไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ซึ่งเป็นภาคที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก และเป็นตลาดใหญ่ที่บริษัทมองว่าจะสามารถผลักดันการเติบโตของสินเชื่อได้ เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมภายในปี 66 เพิ่มเป็น 1.48 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่ 8.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 28% ต่อปี
ขณะที่หลังจากบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วและพร้อมเดินหน้าในการรุกธุรกิจมากขึ้น โดยที่กลุ่มสินเชื่อที่บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นจะเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทน (Yield) สูง ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนในพอร์ต 27% ขณะที่ส่วนใหญ่ยังเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ 65% แม้ยังเป็นตลาดใหญ่แต่ให้ Yield ไม่สูงมากนัก พร้อมกันนั้นจะมีการเพิ่มกลุ่มสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เข้ามาเสริมในกลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกันที่ยังมีสัดส่วนเพียง 6% เพื่อทำให้บริษัทมีสินเชื่อหลากหลายรองรับความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
“เรามุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการสินเชื่อเพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ลูกค้า ด้วยวิสัยทัศน์เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่นิยมชมชอบของลูกค้าในแต่ละท้องถิ่น เพื่อก้าวสู่หนึ่งในผู้นำการให้บริการสินเชื่อที่ครบวงจรในประเทศไทย โดยพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการขยายสาขาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้แนวคิดใครๆก็กู้ได้ พร้อมควบคุมบริหารหนี้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นางสุธารทิพย์ กล่าว
นายธีรวัฒน์ ธวัลรัตน์โภคิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบัญชีและการเงิน HENG กล่าวว่า ปี 61-63 บริษัทขยายพอร์ตสินเชื่อรวมสุทธิก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คิดคาดว่าจะเกิดขึ้น จาก 7,617 ล้านบาท เพิ่มเป็น 8,038 ล้านบาท และ 8,277 ล้านบาท ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 4.2% ต่อปี โดยมีรายได้จากดอกเบี้ยอยู่ที่ 1,239 ล้านบาท 1,557 ล้านบาทและ 1,450 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสินเชื่อเช่าซื้อในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน เป็นพอร์ตรายได้หลัก
ขณะที่กำไรสุทธิปี 61-63 เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 44.6% ต่อปี หรือทำได้ 152 ล้านบาท 189 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 318 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
ส่วนผลการดำเนินงานงวดสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 64 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ มีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีการปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อประจำปีทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมสุทธิก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คิดคาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นจากปี 63 เล็กน้อยเป็น 8,420 ล้านบาท โดยมีรายได้จากดอกเบี้ย 686 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันยังคงเป็นพอร์ตหลัก โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ
อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บริษัทฯ จึงตั้งค่าเผื่อเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการ (Management Overlay) เพื่อรองรับปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อในอนาคต ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาสนี้อยู่ที่ 109 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 64)
Tags: HENG, IPO, พงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล, วิชัย ศุภสาธิตกุล, สุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์, หุ้นไทย, เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล