นางสาวสุธางค์ คนศิลป กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.เบริล 8 พลัส (BE8) เปิดเผยว่า BE8 เตรียมพร้อมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 50 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ และ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปีนี้ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing)
ปัจจุบัน BE8 มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 75 ล้านบาท ซึ่งภายหลังเสนอขายหุ้น IPO จะนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายสาขาต่างประเทศ ลงทุนทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสริมศักยภาพและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
นายอภิเษก เทวินทรภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BE8 กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ (End-To-End Digital Transformation Expert) ที่ให้บริการตั้งแต่คำปรึกษาด้าน Digital Strategy การวางแผนพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การเลือกใช้ซอฟต์แวร์และพัฒนาระบบให้สำเร็จตามแผน
รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการจัดเก็บบริหารข้อมูลขนาดใหญ่และนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนบริการดูแล แก้ปัญหาการใช้งานระบบอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรฐานการให้บริการระดับสากลทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยมีวิสัยทัศน์เป็น “คู่คิดทางธุรกิจที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ ด้วยความใส่ใจ ตั้งใจ และความรับผิดชอบ ที่เชื่อมโยงและตอบโจทย์กลยุทธ์ของลูกค้า เพื่อก่อให้เกิดคุณค่าทางธุรกิจอย่างยั่งยืน” และวางเป้าหมายเป็นผู้นำขับเคลื่อนการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นในระดับภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ บริษัทมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation มากกว่า 12 ปี ให้บริการลูกค้าองค์กรมากกว่า 100 ราย จากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มสถาบันการเงินและธนาคาร กลุ่มธุรกิจค้าปลีก กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ กว่า 250 โครงการในไทยและต่างประเทศ จึงมีความเข้าใจในธุรกิจที่หลากหลายและนำเสนอนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ ชั้นนำระดับโลกเข้ามาสนับสนุนลูกค้า เช่น Salesforce, Google, MuleSoft, Tableau และ Snowflakeเป็นต้น เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถแก่ธุรกิจและองค์กรสู่ความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นใจได้ว่าธุรกิจของลูกค้าจะล้ำหน้า Digital Disruption
ปัจจุบันมีบริการ 2 ประเภท ได้แก่
1.งานบริการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และพัฒนาเทคโนโลยี (Strategy and Technology Consulting) เริ่มตั้งแต่การวางแผนงานร่วมกับลูกค้า เพื่อกำหนดทิศทางและกลยุทธ์การทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ออกแบบและพัฒนาระบบ รวมถึงพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของพนักงานในองค์กร โดยมีบริการ ดังนี้
การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ (Strategy) เพื่อเชื่อมโยงกับทิศทางธุรกิจ โดยช่วยการวิเคราะห์โอกาส ความท้าทาย การสร้างการเติบโตจากการใช้เทคโนโลยี อาทิ การวางกลยุทธ์ดิจิทัล (Digital Strategy) และ การวางกลยุทธ์ลูกค้าสัมพันธ์ (CRM Strategy) ผลักดันให้ธุรกิจนำเสนอสินค้าและบริการตอบโจทย์ลูกค้าและสร้างประสบการณ์ที่ดีในทุกๆ ช่องทาง
การพัฒนาระบบ การออกแบบ และการสร้างโซลูชั่นส์ (Implementation) บริการพัฒนาและเชื่อมต่อระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร อาทิ ระบบบริหารการขาย, ระบบ Digital Marketing, ระบบให้บริการลูกค้าแบบ Omni-Channel เป็นต้น
การพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของบุคลากรและการฝึกอบรม (Technology Capability Building) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรก้าวทันกับเทคโนโลยีใหม่
2.งานบริการเทคโนโลยี (Technology Service) ได้แก่ การขายสิทธิการใช้และการให้เช่าใช้สิทธิการใช้งาน (License and Subscription) โดยบริษัทฯ มุ่งนำเสนอซอฟต์แวร์ระดับโลกที่ตอบโจทย์การทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น อาทิ Salesforce แพลตฟอร์มบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้าจาก Salesforce ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ของโลก, ซอฟต์แวร์ Google Workspace จาก Google, Tableau, Snowflake, MuleSoft ฯลฯ รวมถึงพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันเองเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างหลากหลาย อาทิ BE8 Loyalty Management ฯลฯ ตลอดจนให้บริการส่วนงานสนับสนุนและดูแลระบบเทคโนโลยี (Support and Maintenance) การจัดหาบุคลากรเทคโนโลยี (Managed Service) ให้บริการด้านพัฒนา ติดตั้ง และให้คำปรึกษาการใช้งานของระบบ รวมทั้งมีบริการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเทคโนโลยีที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมให้แก่องค์กรชั้นนำ
นางสาวพิมพ์กานต์ ปุญญเจริญสิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและนักลงทุนสัมพันธ์ BE8 กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นจะเป็นพันธมิตรในการสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า ผ่านการเป็นที่ปรึกษาและการวางกลยุทธ์ Digital Transformation ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ระดับโลก เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ การแข่งขันผ่านกระบวนการทำ Digital Transformation เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำขับเคลื่อนการทำ Digital Transformation ในระดับภูมิภาคอาเซียน
โดยบริษัทวางแผนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตภายใต้การให้บริการ Digital Transformation แบบครบวงจร (OneStop Service for Digital Transformation) ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ การพัฒนาและติดตั้งระบบ การสร้างโมเดลการวิเคราะห์ชั้นสูงและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ พร้อมนำเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกจากพันธมิตรมาสนับสนุนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญการขยายผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์จากเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระบบและซอฟต์แวร์ที่เกิดจากความเข้าใจลึกซึ้งในอุตสาหกรรม ปัจจุบันพัฒนาขึ้นมาเองกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มศักยภาพและความเชี่ยวชาญบุคลากรให้มีความรู้และความเข้าใจเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ใหม่ เพื่อผลักดันบริษัทก้าวสู่ผู้นำ Digital Transformation รวมทั้งขยายธุรกิจในภูมิภาคอาซียน ที่ภาคธุรกิจกำลังปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ระบบดิจิทัล โดยบริษัทได้รับการแต่งตั้ง Salesforce Reseller Partner รายแรกของประเทศเวียดนาม และจัดตั้งสำนักงานในปี 62
นางสุภัตรา สิมธาราแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน BE8 กล่าวว่า ผลการดำเนินงานทั้งในด้านยอดขายและกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 61-63 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 211.57 ล้านบาท 311.49 ล้านบาท และ 312.54 ล้านบาท ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 21.57% และมีกำไรสุทธิ 32.99 ล้านบาท 64.26 ล้านบาท และ 23.64 ล้านบาท
ปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการให้บริการคำปรึกษาด้านกลยุทธ์และพัฒนาเทคโนโลยี และการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยให้บริการออกแบบ พัฒนา และติดตั้งระบบต่างๆ โดยการขยายฐานลูกค้าขนาดใหญ่ให้มีความหลากหลายในธุรกิจหลายประเภทมากขึ้น ตลอดจนการรักษากลุ่มลูกค้าเดิม และการขยายฐานกลุ่มลูกค้า SMEs เพิ่มขึ้น
ส่วนรายได้รวมในไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 178.81 ล้านบาท เติบโต 10.23% และมีกำไรสุทธิ 39.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.48 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับในงวด 6 เดือนแรกปี 64 มีการตั้งประมาณการค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่ขาดว่าจะเกิดขึ้น 2.11 ล้านบาท ลดลงจากงวด 6 เดือนแรกปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ 38.22 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ต.ค. 64)
Tags: Digital Transformation, IPO, mai, ก.ล.ต., สุธางค์ คนศิลป, หุ้นไทย, อภิเษก เทวินทรภักติ, เบริล 8 พลัส