นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการกระจายชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ไปยังพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้หากประชาชนที่ไม่มีความเสี่ยง หรือไม่มีอาการ ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ATK และเมื่อรับชุดตรวจจากหน่วยบริการไปแล้วต้องรีบใช้ทันที เพราะมีวันหมดอายุ รวมทั้งควรเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องที่ร้อนไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง ก็ไม่ควรรับชุดตรวจ ATK ไปเก็บตุนไว้ ให้ติดต่อขอรับชุดตรวจก็ต่อเมื่อมีอาการ หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น
สำหรับกลุ่มที่ควรได้รับการตรวจโควิด-19 ได้แก่
- ผู้สัมผัส ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และมีอาการ ควรตรวจด้วย RT-PCR ที่โรงพยาบาล
- หากมีอาการและไม่มีประวัติสัมผัสหรือเสี่ยงสูง ให้ใช้ชุดตรวจ ATK
- ผู้สัมผัส แต่ไม่มีอาการ ให้ใช้ชุดตรวจ ATK
- กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และสตรีตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้ใช้ชุดตรวจ ATK ทั้งนี้หากเชื้อน้อย ชุดตรวจ ATK อาจตรวจไม่พบเชื้อในทันที ดังนั้นในผู้ที่ไม่มีอาการ ควรตรวจช้ำทุก 7 วัน แต่หากมีอาการควรตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ทันที ส่วนกลุ่มที่มีอาการควรตรวจซ้ำ ภายใน 3-5 วัน
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีชุดตรวจ ATK จำหน่ายเฉพาะตามร้านขายยาทั่วไป อย่างไรก็ดี ได้มีการประชุมของคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ จะอนุญาตให้สามารถกระจายขายชุดตรวจ ATK ตามร้านค้าทั่วไปได้ แต่ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ซื้อชุดตรวจ ATK ผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะอาจได้รับชุดตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานที่อาจให้ผลตรวจลวงได้
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสรรชุดตรวจ ATK ว่า ขณะนี้ได้มีการกระจายชุดตรวจ ATK จำนวน 6.7 ล้านชิ้นไปยังทั่วประเทศแล้ว และพรุ่งนี้ (22 ก.ย.) หน่วยบริการทุกหน่วยทั่วประเทศจะมีชุดตรวจ ATK พร้อมให้บริการแก่ประชาชน โดยการกระจายชุดตรวจ ATK ตั้งแต่วันที่ 16-21 ก.ย. 64 มีประชาชนได้รับชุดตรวจ ATK แล้วจำนวนกว่า 80,000 ราย โดยมีการบันทึกข้อมูลแล้วจำนวน 14,000 ราย คิดเป็น 20% และมีผลบวกจำนวน 100 ราย คิดเป็น 1%
สำหรับประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการ สามารถรับชุดตรวจ ATK ได้ทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่
1. ประชาชนสามารถรับชุดตรวจจากหน่วยบริการ หรือร้านขายยาในพื้นที่ใกล้บ้านที่ติดป้าย “จุดแจกชุดตรวจโควิด ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง” โดยประชาชนสามารถเดินทางเข้าไปยังหน่วยบริการดังกล่าว เพื่อรับการคัดกรองประเมินความเสี่ยงจากเจ้าหน้าที่ หากมีความเสี่ยงจะได้รับชุดตรวจ ATK จำนวน 2 ชุด พร้อมคำแนะนำในการใช้
2. ประชาชนสามารถรับชุดตรวจผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดยสามารถกดขอรับชุดตรวจ ATK หลังจากตอบคำถามคัดกรองความเสี่ยงจำนวน 3 ข้อ หากผลประเมินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีรายชื่อหน่วยบริการ, ร้านขายยา, โรงพยาบาล หรือคลินิกต่างๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงปรากฎขึ้นมา โดยสามารถเลือกรับชุดตรวจ ATK ตามหน่วยบริการที่ปรากฎ และเมื่อเดินทางไปถึงหน่วยบริการจะต้องทำการสแกน QR Code เพื่อรับชุดตรวจ ATK จำนวน 2 ชุด พร้อมคำแนะนำในการใช้
3. ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มอาสาสมัครจะลงพื้นที่แจกชุดตรวจ ATK ทั้งในพื้นที่ชุมชนแออัด, ตลาด, ร้านเสริมสวย, ร้านสปา, ร้านนวด และขนส่งสาธารณะ
ทั้งนี้ หลังจากที่ประชาชนได้ทำการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ไม่ว่าผลเป็นลบ หรือบวก จะต้องเข้าไปกรอกข้อมูลในแอปพลิเคชันเป๋าตังทุกครั้ง หากผลเป็นบวก จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาแบบแยกกักตัวในบ้าน (Home Isolation – HI) หรือแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation – CI) หากผลตรวจเป็นลบ จะเป็นการเก็บข้อมูลไว้ก่อน เผื่อว่าการตรวจครั้งต่อไปผลอาจเป็นบวก สำหรับประชาชนที่ไม่มีแอปพลิเคชันเป๋าตัง เมื่อตรวจ ATK แล้วให้ติดต่อกลับไปยังหน่วยบริการที่รับชุดตรวจมา เพื่อให้หน่วยบริการนั้นๆ บันทึกข้อมูลให้
ส่วนประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถตรวจสอบหน่วยบริการได้ที่เว็บไซต์ของ สปสช. โดยวันนี้กลุ่มอาสาสมัครได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยเชิงรุกลงพื้นที่เพื่อกระจายชุดตรวจแก่กลุ่มเสี่ยงแล้ว ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเพิ่มจุดกระจายชุดตรวจ ATK นอกจากศูนย์บริการสาธารณสุข โดยจะเพิ่มจุดบริการที่คลินิกชุมชนอบอุ่นอีกประมาณ 120 แห่ง และจะเริ่มกระจายชุดตรวจ ATK ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. นี้เป็นต้นไป โดยวันนี้กลุ่มอาสาสมัครของ กทม.กว่า 10,000 ราย ได้ทยอยกระจายชุดตรวจไปยังพื้นที่เป้าหมายแล้ว
นอกจากนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข ในการขยายจุดกระจายชุดตรวจ ATK เพิ่ม โดยมีแผนจะทำการขยายจุดตรวจในเร็วๆ นี้ คือคลินิกตรวจผ่านห้องปฎิบัตการทั่วไปจำนวน 60 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสถานพยาบาลของพยาบาลต่างๆ และอยู่ระหว่างติดต่อประสานกับร้านขายยาอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. เพื่อช่วยกระจายชุดตรวจ ATK
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ย. 64)
Tags: Antigen Test Kit, ATK, lifestyle, กระทรวงสาธารณสุข, ชุดตรวจโควิด, ธงชัย กีรติหัตถยากร