“ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี” คาดเปิดขาย IPO ปลายก.ย.นี้-เข้าเทรด SET ต้นต.ค.64

นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ของบมจ.ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี (SVT) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ภายใต้แบรนด์ SUN Vending เปิดเผยความคืบหน้าของการนำหุ้น SVT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า ปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติให้ SVT เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) แล้ว

โดยอยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อม ซึ่งได้มีการเดินสายนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ต่อนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนรายย่อย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยคาดว่าจะสามารถเสนอขาย หรือเปิดให้จองซื้อหุ้นดังกล่าวได้ในช่วงปลายเดือนก.ย.นี้ และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงต้นเดือนต.ค.64

ทั้งนี้ SVT ถือว่ามีจุดเด่น โดยเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจนี้เป็นเจ้าแรกๆ ของประเทศไทย ด้วยประสบการณ์ 20 ปี และได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินธุรกิจค้าปลีกให้เกิดเป็นรูปแบบใหม่ หรือการจำหน่ายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้พนักงานขาย รวมถึงยังมีโรงงานผลิตและประกอบตู้ Vending Machine เป็นของตัวเอง ซึ่งถือว่ามีศักยภาพในระดับผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้ SVT สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการดูแลรักษา และต่อยอดเครื่อง Vending Machine นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือ เรื่องของซัพพลายเชน และโลจิกติกส์ SVT มีสินค้าที่นำเสนอกว่า 700 SKU ก็มีการจัดหาซัพพลายเออร์ ที่มีความหลากหลาย และผลิตภัณฑ์ก็มีความหลากหลาย

ปัจจุบัน SVT มีสาขาอยู่ที่ 11 แห่ง ครอบคลุม 26 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปขยายธุรกิจ กล่าวคือ ขยายตู้ Vending Machine ให้ได้ 20,000 เครื่อง ในปี 66 และขยายสาขาเพิ่มอีก 3 สาขา เพื่อให้ ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

” SVT เป็นธุรกิจเงินสด ขายสินค้าเป็นเงินสด มีสภาพคล่องการทำธุรกิจ ทำให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสด เพื่อจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า40% ของกำไรสุทธิ มองเป็นหุ้น Growth Stock “

 นายวิชากล่าว

ด้านนางอาภัสรา ภาณุพัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ SVT กล่าวว่า บริษัทฯ มีมาร์เก็ตแชร์ หรือสัดส่วนทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ในไทย หรือคิดเป็น 44% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด ขณะที่การเติบโตของธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในอนาคต มองว่ายังมีการเติบโตมาก เนื่องจากปริมาณเครื่องจำหน่ายสินค้าเมื่อเทียบกับประชากรของไทยยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ หรือราว 1 เครื่องต่อ 1,300 คน เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตู้ Vending Machine ที่มีอัตราประชาการต่อเครื่องราว 1 เครื่องต่ออัตราประชากร 23 คน ทำให้ ยังมีพื้นที่อีกมากในการขยายธุรกิจ

อีกทั้งการขยายตัวของระบบคมนาคมในไทย จะเป็นจุดที่มีศักยภาพที่จะนำตู้ Vending Machine เข้าไปติดตั้ง เพื่อให้บริการและจำหน่ายสินค้า, ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับในอดีต หรือมีความคุ้นชินกับการซื้อของผ่านร้านสะดวกซื้อ แต่ปัจจุบันการใช้งานออนไลน์ การเข้ามาของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมา ซื้อสินค้าผ่านเครื่องอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อลดการสัมผัส ตู้ Vending Machine ก็จะเข้าไปตอบโจทย์ไลฟสไตล์ผู้บริโภค ณ ปัจจุบันและอนาคต, การแข่งขันทางธุรกิจและเศรษฐกิจ การแข่งขันทางธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และออนไลน์ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังมีผู้ที่สนใจเข้ามาในธุรกิจนี้ และทำให้ตู้ Vending Machine มีความแพร่หลาย เป็นที่สนใจของเจ้าของพื้นที่ จึงเป็นโอกาสการขยายตัวของ SVT สามารถเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น, เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้า ทั้ง IoT และ 5G จะส่งเสริมให้การบริหารจัดการของบริษัท เป็นไปอย่างสะดวกสามารถลดต้นทุน และ ตอบโจทย์การเติมสินค้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดเขตการค้าเสรี AEC จะทำให้การขยายตัวของธุรกิจ Vending Machine กระจายไปสู่ใน CLMV ได้

“บริษัทฯ ถือว่าเป็นเจ้าแรกในการทำธุรกิจตู้ Vending Machine โดยมีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ของประเทศ และยังเป็นเจ้าแรกที่นำธุรกิจดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ”

 นางอาภัสรา กล่าว

สำหรับ SVT เป็นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) โดยแบ่งประเภทธุรกิจได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ Retail ธุรกิจขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้สูงถึง 98% ส่วนที่เหลือจะมาจาก VM Sale & Rental ธุรกิจขายและให้เช่าเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และ Advertising ธุรกิจบริการพื้นที่บนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเพื่อการโฆษณา ในสัดส่วนอย่างละ 1%

ส่วนผลประกอบการในปี 61-63 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,699.35 ล้านบาท, 1,805.62 ล้านบาท และ 1,767.36 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าภาพรวมรายได้ในช่วงปี 63 จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ปัจจุบันบริษัทฯ ยังสามารถดำเนินการให้ผลงานมีโอกาสเติบโต เนื่องจากมีการติดตั้งตู้ในโซนโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 70% ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวยังคงเติบโต โดยครึ่งปีแรกของปี 64 บริษัทฯ มีรายได้อยู่ที่ 972.62 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top