กระทรวงอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญเยือนญี่ปุ่นในช่วงเดือนธ.ค.ปีนี้ เพื่อตรวจสอบการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล
เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประกาศเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีกว่า 1 ล้านตันลงสู่ทะเล จากการที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ 10 ปีก่อน โดยการตัดสินใจดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับชาวประมงของญี่ปุ่นรวมไปถึงจีนและเกาหลีใต้
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรับประกันว่าขั้นตอนต่างๆ จะเป็นไปอย่างโปร่งใสสำหรับชาวประมงและประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน ญี่ปุ่นจึงตกลงที่จะทำงานร่วมกับ IAEA เพื่อขอรับการตรวจสอบและขอคำแนะนำในการจัดการกับน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์
กระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า แผนดำเนินการล่าสุดนั้นกำหนดโดยรัฐบาลญี่ปุ่นและลิดี เอฟราด รองผู้อำนวยการของ IAEA ซึ่งเดินทางเยือนญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้เพื่อหารือเรื่องการร่วมตรวจสอบความปลอดภัยของการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีตามที่ได้วางแผนไว้
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติจะตรวจสอบคุณภาพน้ำที่จะปล่อยลงสู่ทะเล รวมถึงขั้นตอนการกำจัดน้ำ และผลจากกัมมันตรังสี ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยของ IAEA
ด้านลิดี เอฟราดกล่าวว่า IAEA จะเผยแพร่รายงานการตรวจสอบได้ภายในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2566 และจะยังคงตรวจสอบความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องหลังจากปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเลแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 64)
Tags: IAEA, กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น, สารกัมมันตรังสี, สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ