ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ส.ค.64 ปรับตัวลดลงมาที่ 39.6 จากระดับ 40.9 ในเดือนก.ค. 64 โดยดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 11 เดือน และยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 33.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 48.6 โดยดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับในเดือน ก.ค.64
โดยปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3-4 ตลอดจนการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคการท่องเที่ยว, ความกังวลกับแผนกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือโต 0.7-1.2%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลด GDP ปีนี้เหลือโต 0.7%, ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ, ผู้บริโภคกังวลต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพ และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จาก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่อนุญาตให้บางกิจการกลับมาเปิดให้บริการได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด, มาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ , สภาพัฒน์รายงาน GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 7.5%, กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%, การส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัว 20.26%, การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ทั้งนี้ จากการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบล่าสุด แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลกว่าจะส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมามาตรการล็อกดาวน์มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจบางประเภทต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบถึงการจ้างงาน ซึ่งผู้บริโภคต่างมีมุมมองที่แย่มากในส่วนนี้
“จะเห็นว่ามาตรการล็อกดาวน์มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงาน โดยเฉพาะการจ้างงานในปัจจุบันที่แย่มากในมุมมองของผู้บริโภคที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงที่เริ่มล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัด”
นายธนวรรธน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต หลังจากศบค. ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นมา เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเริ่มปรับตัวลดลงไม่มากเหมือนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ การแพร่กระจายของโควิดรอบล่าสุดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือไม่ รัฐบาลจะมีการประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์เพิ่มเติมหรือไม่และอย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ ประชาชนยังติดตามสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศว่า หลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ ไปแล้ว จะกลายเป็นการเมืองที่ลงสู่ถนนมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาขับไล่รัฐบาล อีกทั้งปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์ในช่วงเดือนก.ย. และ ต.ค.นี้
โดยปัจจัยเหล่านี้ จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวดีขึ้นจากระดับที่คาดการณ์ไว้ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาที่ระดับ 0 ถึง -2% มาอยู่ในระดับ 0 ถึง 2% ได้ในปีนี้
“ตอนนี้แม้จะยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็มีแนวโน้มจะเริ่มกลับมา ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต ที่มีการปรับตัวลดลงน้อยกว่า 1 จุด ต่างจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ลดลงถึงเดือนละ 2 จุด…เดิมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะ -2 ถึง 0% ก็มีแนวโน้มจะปรับขึ้นเป็น 0-2% ได้ ซึ่งจะมีการทบทวนตัวเลขนี้อีกครั้งในเดือนต.ค.”
นายธนวรรธน์กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 64)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ธนวรรธน์ พลวิชัย, หอการค้าไทย, เศรษฐกิจไทย