รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ระบุว่า แบงก์ชาติขอขอบคุณสำหรับความห่วงใยที่อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติได้ยกขึ้นในเรื่อง การออก พ.ร.ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) รวมทั้ง เสนอแนะให้ใช้กลไกของธนาคารของรัฐในการตัดสินใจเรื่องการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน
แบงก์ชาติขอเรียนว่า การออกมาตรการในครั้งนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเพราะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีขนาดถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือ กว่าร้อยละ 20 ของ GDP เป็นแหล่งระดมเงินทุนและแหล่งลงทุนที่สำคัญ ถ้าตลาดการเงินส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหา ก็อาจจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่ระบบการเงินโดยรวมและภาคเศรษฐกิจจริง
นอกจากนี้ การรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วจึงเข้าไปแก้ไขย่อมมีต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจการเงินสูงกว่าการเข้าไปดูแลก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม จึงต้องเตรียมเครื่องมือไว้ล่วงหน้า และการตัดสินใจที่ต้องการความรวดเร็วเร่งด่วนอาจจะทำให้ไม่สามารถพึ่งพากลไกการทำงานของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีพันธกิจอื่นอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็มักจะไม่ใช่ลูกค้าที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีความคุ้นเคยอยู่เดิม
การออกพระราชกำหนดฯ ให้อำนาจแบงก์ชาติดำเนินการเรื่อง BFS ไม่ได้เป็นการแก้กฎหมายแบงก์ชาติ แต่เป็นการให้อำนาจการดำเนินการชั่วคราวแก่แบงก์ชาติ ในการเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดย พ.ร.ก. มีอายุ 5 ปี และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการที่วางใน พ.ร.บ. ธปท. 2551 แต่ประการใด
ความกังวลเรื่องการแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ เรื่องความเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจ หรือแม้กระทั่งไม่มั่นใจในความชำนาญของพนักงานแบงก์ชาติ ล้วนเป็นประเด็นที่แบงก์ชาติคำนึงถึงและระมัดระวังมากที่สุด ในการวางแนวทางการทำงานของกองทุน BSF
จึงจัดโครงสร้างการกำกับดูแล กระบวนการทำงานและการบริหารความเสี่ยงกองทุน BSF อย่างรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ธนาคารพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญอิสระ รวมทั้งการใช้มืออาชีพมาร่วมบริหารจัดการกองทุน โดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ลงทุนในตราสารหนี้เอกชนด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญ แบงก์ชาติยังคงยึดหลักการของการเป็นผู้ให้สภาพคล่องแหล่งสุดท้าย (last resort) ที่ให้กู้แก่บริษัทที่มีผลดำเนินธุรกิจดีต่อเนื่อง (viable) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองระยะสั้น โดยบริษัทต้องมีแผนระดมทุนในระยะยาว และมีธนาคารพาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจและร่วมปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจัดการระดมทุนในตลาด หรือจากระบบสถาบันการเงินมาให้เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะมาขอสภาพคล่องจากกองทุน BSF ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาด โดย BSF จะมีแนวทางที่ชัดเจนหากบริษัทผู้ออกถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating downgrade) ในภายหลัง
แบงก์ชาติยังคงยึดมั่นในหลักการดูแลเศรษฐกิจการเงินให้มีเสถียรภาพ ไม่ใช่การดูแลนักลงทุนรายบุคคล แต่เป็นการดูแลระบบการเงินของประเทศ บรรดาธนาคารกลางในหลายประเทศ ก็ได้เข้ามาดูแลส่วนต่างๆ ของระบบการเงินที่อาจจะเป็นข้อต่อสำคัญในการสร้างความเสี่ยงเชิงระบบไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของระบบการเงิน และสู่ภาคเศรษฐกิจจริงในที่สุด
การทำงานของแบงก์ชาติได้หารือและรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ จึงขอให้เชื่อมั่นว่าข้อกังวลต่าง ๆ ของท่านอดีตผู้บริหารเป็นหลักการทำงานที่แบงก์ชาติยึดมั่นมาโดยตลอด และ ยินดีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 63)
Tags: BSF, ตราสารหนี้, ตราสารหนี้เอกชน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, หุ้นกู้, แบงก์ชาติ