นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระบวนการหลังจากนั้น นายกรัฐมมนตรี ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะจะพ้นตามไปด้วย ตามมาตรา 167
ขณะเดียวกันมาตรา 168 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งจะอยู่รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ โดยไม่ได้มีกรอบระยะเวลากำหนดไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับประธานสภาจะหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะรักษาการต่อไปจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้วเสร็จ จนกระทั่งเข้าเข้าสู่ขั้นตอนถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่
สำหรับขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องเริ่มจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อน หรือสามารถเลือกคนนอกได้เลยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า จะต้องเลือกจากในตะกร้าก่อน หรือจะไม่เลือกในตะกร้าก่อนก็ได้ ถ้าตกลงว่าจะใช้ตามวรรคสอง
“ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ระบุว่าให้เลือกในตะกร้าจนกว่าจะไม่ได้แล้วค่อยไปเลือกนอกตะกร้า บอกแต่เพียงว่า กรณีที่ต้องการเลือกคนภายนอก ก็ให้มีจำนวนเสียงกึ่งหนึ่งของสภาฯ ยื่นญัตติแล้วโหวตกัน 2 ใน 3 ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการที่นำมาใช้แทนกันได้ จึงต้องใช้เสียง ส.ว. ดังนั้นถ้าไม่ลองในตะกร้าก่อน ใครจะกระโดดไปเลือกนอกตระกร้า”
นายวิษณุ ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องดังกล่าวจะผูกโยงไปกับการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่ว่าวันที่ 10 ก.ย.นี้ ร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านวาระ 3 หรือไม่ ถ้าผ่านก็เท่ากับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นเดินหน้าต่อไป
ทั้งนี้ หากประเมินเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นมีโอกาสจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น นายวิษณุ ปฏิเสธที่จะตอบ และไม่ขอประเมินสถานการณ์ใดๆ เพียงอะไรทั้งนั้น ที่ตอบไปนั้น ก็เป็นเพียงการตอบคำถามตามที่สื่อได้ตั้งคำถามเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ในอดีตเคยมีเหตุการโหวตล้มรัฐบาล เช่นในสมัยของนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย ซึ่งการอภิปรายฯ ในครั้งนั้นจบลงด้วยการยุบสภา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 64)
Tags: การเมือง, ประชุมสภา, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ยุบสภา, วิษณุ เครืองาม, อภิปรายไม่ไว้วางใจ